สมชัย ยัน 7 ก.พ.66 เส้นตายนักการเมืองย้ายหาพรรคใหม่

สมชัย วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองก่อนเลือกตั้ง ยัน 7 ก.พ.66 เส้นตายนักการเมืองย้ายหาพรรคใหม่

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ส.ส.จะแห่ลาออกช่วงปลายสมัยประชุมสภาว่า สำหรับคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง มีด้วยกัน 2 กรณี กรณีแรกคือ สภาอยู่ครบวาระจนถึงวันที่ 23 มีนาคม การนับอายุการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งเพียงพรรคเดียว ไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

ซึ่งกรณีครบวาระ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ตามไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้ คือจะมีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ดังนั้น หากนับย้อน 90 วัน จุดปลอดภัยของการสังกัดพรรคการเมืองกรณีสภาอยู่ครบวาระ คือต้องสังกัดพรรคการเมืองที่ประสงค์ลงเลือกตั้งก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566

ส่วนกรณีหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น การเลือกตั้งจะต้องจัดภายในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีหลังจะมีความยืดหยุ่นสูงกว่า เพราะยุบสภาแล้วก็ยังสามารถเปลี่ยนพรรคการเมืองใหม่ได้

นายสมชัยกล่าวต่อว่า ถ้ามองเทคนิคทางการเมืองของคนที่เป็นนักการเมือง คิดว่าเพื่อความปลอดภัยจะต้องยึดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นหลัก เพราะหากถึงปลายเดือนมกราคม 2566 ถ้ายังไม่มีการยุบสภาเกิดขึ้น ถ้าต้องการย้ายพรรคต้องลาออกจากพรรคเดิมเพื่อหาสังกัดพรรคใหม่ เพราะถ้าหากไม่ลาออกไปอยู่พรรคใหม่ โดยเชื่อว่านายกฯจะยุบสภาก่อนครบกำหนด หากเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แล้วนายกฯยังไม่ยุบสภา ผลที่เกิดขึ้นคือจะยังไม่สามารถย้ายพรรคได้เลยต้องอยู่พรรคเดิมไป หากพรรคส่งลง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับใดก็แล้วแต่ไม่มีสิทธิย้ายพรรคได้ ต้องเตือนกันว่าถ้าปลายเดือนมกราคม 2566 จะมีสัญญาณยุบสภาหรือไม่ ถ้าต้องการย้ายพรรคก็ต้องลาออกเพื่อไปสังกัดพรรคใหม่ เพราะเรื่องนี้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะยุบสภาเมื่อใด

Advertisement

เมื่อถามว่า ช่วงปลายสมัย ส.ส.แห่ลาออก จะกระทบกับการประชุมสภาหรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า แน่นอนว่าการประชุมแต่ละครั้งต้องมีคนมาร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ประเด็นอยู่ที่ว่าคนลาออกอยู่ซีกฝั่งฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ถ้าฝ่ายรัฐบาลมากกว่าอาจเป็นปัญหาว่ารัฐบาลจะไม่มีเสียงข้างมากในสภาทำให้เกิดการแพ้โหวต โดยเฉพาะการลงมติในกฎหมายที่มีความสำคัญ แต่หาก ส.ส.เหลือแค่เพียง 200 คน ถ้าลดลงแบบนั้นดูจากสภาพแล้วไม่น่าคงความเป็นสภาไว้ได้ จะนำไปสู่การให้นายกฯตัดสินใจยุบสภาได้

“จำนวนเท่าใดไม่สำคัญแต่ว่าต้องเป็นจำนวนที่รัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ถ้าน้อยกว่าจะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปไม่ได้ เพราะเวลาเสนออะไรก็จะแพ้ได้ แต่ระยะนี้เชื่อว่าเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายเฝ้าดูสถานการณ์มากกว่า อาจมีการเจรจา การไปอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ผมคิดว่ายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา” นายสมชัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image