จับสัญญาณส.ว. โหวตใครเป็นนายกฯ

จับสัญญาณส.ว. โหวตใครเป็นนายกฯ

การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและไฟต์บังคับ ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปฏิบัติหน้าที่ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคมนี้ หากไม่มีการยุบสภาก่อนรัฐบาลครบวาระ ไทม์ไลน์การเลือกตั้งทั่วไปตามที่ กกต.กำหนดคือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566

หากมีการยุบสภา กกต.จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่ห้าวันหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา อีกทั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า สองขั้วการเมืองต่างมีเดิมพันสูงในผลการเลือกตั้งครั้งหน้า

ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์หวังไปต่อได้ด้วยการได้รับเลือกเป็นนายกฯอีกสมัย ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินหน้ายุทธศาสตร์การเลือกตั้งหวังชนะแบบแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.เกิน 250 เสียง เพื่อหวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน ถือว่ามีนัยยะและส่งผลต่อทิศทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก 250 ส.ว.ยังมีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯกับ ส.ส.ทั้ง 500 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ในช่วงการทำหน้าที่ห้าปีของ ส.ว. ที่บัญญัติว่า

Advertisement

ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่งให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสามต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่งหากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใดและสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้นให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไปโดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

แม้บทบาทและอำนาจ ส.ว.ที่สามารถโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 ร่วมกับ ส.ส.ได้เป็นปีสุดท้าย แต่การโหวตเลือกนายกฯในการเลือกตั้งปี 2566 ปัจจัยทางการเมืองนั้นต่างกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 ที่ทั้งคะแนนนิยมและดุลอำนาจของกลุ่ม 3 ป. ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและมีเอกภาพ ไม่มีการแบ่งแยก ส.ส. และพรรคในการลงรับสมัครเลือกตั้ง มาเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

Advertisement

ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงว่าภายหลังการเลือกตั้ง พรรค พปชร.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรค พปชร. และพรรค รทสช. ที่จะชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ จะได้เสียง ส.ส.รวมกันแล้วได้เกินครึ่ง คือ 250 ส.ส. หรือได้ ส.ส.มากกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่

จากสัญญาณและท่าทีของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุถึงท่าทีการโหวตเลือกนายกฯภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าของ ส.ว.ไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งแรกเป็นการเลือกนายกฯคนเดียว แต่การเลือกครั้งใหม่ เท่าที่ฟังจากสมาชิกบอกว่า เขาต้องดูก่อนว่าเมื่อเขาเลือกไปแล้วจะมีความมั่นคงในระบบรัฐสภาหรือไม่

ผมได้ยินมาว่า ส.ว.ก็ควรที่จะเลือกให้ระบบรัฐสภาที่มี 2 สภาอยู่ได้ ตามกฎหมายที่ให้สมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกฯได้ ถ้าเราเลือกไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็จะมีผลกระทบ ไม่ว่า ส.ว.หรือ ส.ส.ทุกคนก็รักประเทศชาติ และอยากให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ นี่เป็นความคิดและเป็นความตั้งใจ แต่แน่นอนว่า ต้องมีบางคนที่เขาผูกพันกับความต้องการอย่างไร ก็คงต้องยืนตามนั้น

ส่วนเรื่องความมั่นคงของนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้ง ประธาน ส.ว.มองว่า ความมั่นคง อยู่ในขั้นตอนแรกของการเลือกพรรคการเมืองใหม่เข้ามา แน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องมีการฟอร์มรัฐบาลให้ได้เร็ว และรัฐบาลต้องมั่นคง ส.ว.คงต้องมีบทบาท เพราะ ส.ว.ต้องคำนึงถึงว่า สร้างความมั่นคงได้อย่างไร ถ้าไม่มั่นคงก็ยุบสภากันอีก ดังนั้นอายุการดำรงตำแหน่งของนายกฯก็มีส่วน เพราะคนที่จะเป็นนายกฯได้ สมมุติอยู่ในพรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส. 250 ถึง 255 เสียง แล้วมาได้เสียงจาก ส.ว.โหวตเลือกให้ได้เป็นนายกฯ ก็คงไม่มั่นคงเท่าไหร่ ถ้าจะให้ดี ส.ส.ที่รวมกันต้องมีเสียงมาก เพราะ ส.ว.เพียงไปช่วยสนับสนุนในการโหวตเลือกนายกฯเท่านั้น

ในทางการเมืองแน่นอนว่า หากพรรคหรือกลุ่มการเมืองใดรวมเสียงของ ส.ว.มาสนับสนุน เพื่อโหวตเลือกนายกฯให้ได้ ย่อมจะกุมความได้เปรียบไว้ในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลจะมีเสถียรภาพและความมั่นคงบริหารงานได้ จะต้องมีเสียง ส.ส.สนับสนุนที่เกินครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ ต้องมีเสียงมากกว่า 250 เสียงขึ้นไป

เพราะ คงไม่มีขั้วการเมืองใดกล้าเสี่ยงที่จะดันทุรังตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย มี ส.ส. สนับสนุนไม่ถึง 250 เสียง ที่จะจอดป้ายตั้งแต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ไม่ต้องรอให้ถึงการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image