‘เสรี’ ยังไม่ชัวร์โหวตนายกฯ 22 ส.ค. อยากเห็นการชี้แจงต่างๆ จากปาก ‘เศรษฐา’ ถามกลัวอะไรไม่มาชี้แจงเอง ชื่อนี้ยังไม่นิ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้รอดูวันจริง
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ระบุว่าวันโหวตนายกรัฐมนตรีจะเป็นวันที่ 22 สิงหาคมนั้นว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นวันใด ขึ้นอยู่ที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จะเป็นผู้กำหนด ถ้าประธานรัฐสภาบรรจุวาระก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องเรื่องข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ในวันที่ 16 สิงหาคม ก็อาจนัดโหวตนายกรัฐมนตรีวันที่ 17 สิงหาคม หรือวันที่ 18 สิงหาคม ได้ แต่ถ้าประธานรัฐสภาจะรอฟังความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน ก็อาจโหวตช่วงวันที่ 21 สิงหาคม หรือวันที่ 22 สิงหาคม แต่ก็ยังไม่แน่เพราะช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคม เป็นวันจันทร์-อังคารที่ปกติ ส.ว.มีการประชุมวุฒิสภา ดังนั้น ต้องรอความชัดเจนจากประธานรัฐสภาอีกครั้งว่าจะบรรจุวาระโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นวันใด
เมื่อถามถึง ความชัดเจนการโหวตนายกรัฐมนตรีที่นายวันชัยระบุว่า มีเสียง ส.ว. 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ พร้อมโหวตสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย (พท.) นั้น นายเสรีกล่าวว่า ยังไม่ชัดเจน ส.ว.คงต้องดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจทั้งเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีและลักษณะต้องห้าม หรือกรณีนโยบายบริหารประเทศ เช่น แจกเงิน 10,000 บาท จะนำงบประมาณมาจากไหน กระทบการบริหารประเทศหรือไม่ และจะหารายได้เข้าประเทศอย่างไร สิ่งเหล่านี้ ส.ว.อยากได้ยินจากปากนายเศรษฐาให้ชัดเจนในวันโหวตนายกรัฐมนตรี ถ้าให้คนอื่นชี้แจงแทนอาจไม่ชัด ถ้านายเศรษฐาเห็นว่าการชี้แจงเป็นประโยชน์ต่อตัวเองควรมาด้วยตัวเอง ถ้าปล่อยให้คลุมเครือจะมีปัญหาเยอะ ไม่รู้นายเศรษฐากลัวอะไรหรือไม่ จึงไม่กล้ามาชี้แจง
นายเสรีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีความชัดเจนเมื่อถึงวันโหวต ซึ่งตามหลักการ เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอด จะต้องดูพรรคการเมืองจะยืนยันชื่อนายเศรษฐาหรือไม่ เพราะเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงได้ตลอด เช่น เรื่องคุณสมบัติถ้าขัดรัฐธรรมนูญมีโอกาสถูกเปลี่ยนชื่อได้ ตอนนี้อาจไม่ปรากฏ แต่อาจปรากฏอีก 1-2 วัน ตนพูดตามหลักการ ซึ่งหมายถึงทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนายเศรษฐา ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเท็จจริง และตนไม่ได้อคติกับใคร อย่างไรก็ตาม ของจริงให้รอดูวันโหวต เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก่อนวันโหวตหรือไม่ เช่น ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลตกลงโควต้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) กันไม่ได้ แล้วถอนตัวก็เป็นตัวแปรได้ ดังนั้น ทุกอย่างจะชัดเจนจริงๆ ต้องรอวันโหวต