‘เกียรติ’ ซัด ‘นายกฯ-ครม.’ ชี้แจง เงินดิจิทัลไปคนละทิศ กระทบความน่าเชื่อถือ ส่วน พ.ร.บ.เงินกู้จะผ่านสภาหรือไม่อยู่ที่ รบ.จี้ กกต.ฟันพรรคการเมืองทำนโยบายไม่ตรงปก
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ทั้งสิ่งที่เลขาธิการนายกฯ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า หาก พ.ร.บ.เงินกู้ไม่ผ่าน ยังไม่มีแผนสำรอง แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า มีแผนสำรอง แต่ยังไม่บอก เรื่องนี้สะท้อนว่าการให้ข้อมูลของนายกฯ และคนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทำให้กระทบต่อความน่าเชื่อถือ แม้ว่าวิธีออกกฎหมายจะเป็นวิธีที่คลีนที่สุด แต่กฎหมายนั้นก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย คือต้องเข้าข่ายกรณีจำเป็นเร่งด่วน เมื่อมีวิกฤต และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
นายเกียรติกล่าวต่อว่า ดังนั้นรัฐบาลจะต้องชี้แจงในสภาให้ชัดเจนว่าประเทศมีวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร และเหตุใดออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ได้ เพราะการจะออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้นั้น จะต้องพิจารณาในเงื่อนไขของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่ระบุไว้ชัดเจนเช่นกันว่า ต้องเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณประจำปีได้ และยังผูกโยงไปถึงมาตรา 53 และมาตรา 56 ที่ระบุว่า การกู้เงินนั้นจะทำได้เฉพาะเพื่อใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมเท่านั้น ดังนั้นการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ขึ้นอยู่กับคำชี้แจงของรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ยังคงเป็นคำถามเดิม ที่มีตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว และรัฐบาลก็ยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน
“ที่สำคัญ คือ เมื่อกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ กฤษฎีกาก็จะตีความเช่นเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องอธิบายถึงความคุ้มค่า ความจำเป็นเร่งด่วน และชี้แจงว่าประเทศมีวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งๆ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้หยุดชะงัก ไม่ได้ติดลบ ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศที่เห็นตรงกันว่าประเทศไทยไม่ได้กำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และจริงอยู่ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ต้องโตด้วยการปรับโครงสร้าง ไม่ใช่โตด้วยการกระตุ้นให้ใช้เงิน และควรเริ่มจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ เพราะเห็นได้ชัดว่าขณะนี้เป็นโครงสร้างที่บิดเบือนมาก และทำให้ประชาชนต้องแบกภาระ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย แต่ได้ผลทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท
นายเกียรติกล่าวด้วยว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงนั้น จะต้องมีการยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมถึงจะต้องระบุให้ชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในนโยบายที่ใช้หาเสียงด้วย แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ยื่นไว้ต่อ กกต. ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า เมื่อพรรคการเมืองใดมาเป็นรัฐบาลแล้วหากสามารถทำเช่นนี้ได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคหมดความน่าเชื่อถือ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วสามารถทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่เคยยื่นไว้ต่อ กกต.ได้ ไม่เป็นไร เรื่องนี้ กกต.จึงควรต้องออกมาชี้แจงด้วยว่าผิดกฎหมายหรือไม่