“บิ๊กป๊อก” สั่งผู้ว่าฯจังหวัดภาคใต้รับมือน้ำระลอกใหม่ “ปลัดมท.” แจงเพิ่มแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย

“บิ๊กป๊อก” สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้รับมือน้ำ เน้นเรื่องการแจ้งเตือนปชช.ให้รู้ล่วงหน้า-เตรียมพร้อม-จัดจุดอพยพพักพิง ด้าน “ปลัดมท.” ร่อนหนังสือด่วนที่สุด แจงเพิ่มแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้

นที่ 16 มกราคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดว่าในช่วงวันที่ 16-22 มกราคมนี้ ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จึงให้จังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.เน้นย้ำการแจ้งเตือนประชาชน เตรียมความพร้อม แต่งแนวทางปฏิบัติ สถานที่ปลอดภัย จุดอพยพพักพิง รวมถึงประชาสัมพันธ์และกำชับอปท.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร ถึงข้อมูลการแจ้งเตือน และข่าวสาร ผ่านทางวิทยุ หอกระจายข่าว เคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น สื่อออนไลน์ 2.ให้เตรียมสถานที่ปลอดภัย จุดอพยพ จุดพักพิง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้ากรณีมีฝนหนักถึงหนักมาก ซึ่งผอ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแต่ละระดับ สามารถสั่งการอพยพ และให้รายงานผลการแจ้งเตือน การเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ มายัง บกปภ.ช.ภายใน 24ชั่วโมง

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดเรื่อง แนวทางการดูแลผู้ประสบอุทกภัยในช่วงวิกฤตเพิ่มเติม ถึงรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (ด้านกิจการความมั่นคงภายใน) หัวหน้าฝ่ายติดตามกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ หัวหน้าฝ่ายสนับสนุน และเลขาธิการบกปภ.ช. อธิบดีทุกกรม ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในภาคใต้ทุกจังหวัด โดยมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่กองอำนวยการบกปภ.ช.ได้แจ้งแนวทางการดูแลประชาชนในช่วงวิกฤตอุทกภัยให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้น ขอให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่วิกฤตเพิ่มเติมจากที่ได้แจ้งไปก่อนแล้ว ดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบว่าประชาชนที่ประสบอุทกภัยมีน้ำดื่มสะอาดเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอให้จังหวัดประสานผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุข หน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ รวมทั้งใช้งบประมาณในอำนาจของจังหวัดจัดหาน้ำดื่มสะอาดเพื่อแจกจ่ายประชาชน 2.ขอให้จังหวัดแจ้งศึกษาธิการจังหวัดเพื่อสำรวจจำนวนนักเรียน นักศึกษาและโรงเรียน สถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจนไม่สามารถเปิดการเรียน การสอนได้ตามปกติ จากนั้นประสานงานหน่วยราชการอื่นๆ ที่มีสถานที่เพื่อขอใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนทดแทนสถานศึกษาที่ถูกน้ำท่วม สำหรับยานพาหนะในการรับส่งนักเรียนนักศึกษาอาจขอความร่วมมือจากสำนักงานขนส่งจังหวัด หน่วยทหารในพื้นที่ หรือภาคเอกชน และ 3.ในพื้นที่น้ำท่วมขังเริ่มเน่าเสีย ขอเน้นย้ำให้รีบประสานหน่วยงานชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้เร่งรัดสูบน้ำเสียเหล่านั้นออกไปให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากโรคหลังน้ำท่วม ทั้งนี้หากมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการข้างต้นหรือเกินขีดความสามารถของจังหวัดในการปฏิบัติแล้วขอให้แจ้งกองอำนวยการบกปภ.ช.ส่วนหน้า และส่วนกลางให้ทราบโดยด่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image