‘เศรษฐา’ ยัน แจกดิจิทัล 1 หมื่นให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรบ. ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ได้อ่านจากเฮดไลน์คร่าวๆ เรื่องของการทุจริตในการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ในเรื่องนี้ คงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ยืนยันว่าต้องตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอแนะส่วนหนึ่งเหมือนต้องการให้รัฐบาลระมัดระวังเรื่องการแจกเงิน นายเศรษฐากล่าวว่า ระมัดระวังอยู่แล้ว อย่างที่เรียนจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ มีกลไกที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
เมื่อถามว่าจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูด้วยหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า คิดว่าคณะทำงานคงทำทุกอย่างที่ต้องเป็นการปกป้องและดูแลเรื่องผลประโยชน์อย่างสูงสุดของพี่น้องประชาชน อาทิตย์หน้าจะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ หลังจากนั้นคงมีการแถลงใหญ่
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณทาง ป.ป.ช. แนะให้กลับมาใช้งบประมาณประจำปีปกติดีกว่าการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องไปคุยกัน เมื่อถามอีกว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้คุยเลย ต้องดูความเหมาะสมก่อน
เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ถึงขั้นให้ปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อย นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องไปดูเรื่องของหน้าที่ และสิ่งที่ ป.ป.ช.บอกมาว่าอย่างไรและเหตุผลคืออะไร ต้องดูหน้าที่ของ ป.ป.ช.คือการตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบใช่หรือไม่ ส่วนนโยบายว่าจะให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับคำและข้อสังเกตเรื่องของการทุจริต ตนเน้นตรงนี้ดีกว่าที่เกี่ยวข้องกับทาง ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.สบายใจว่าตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
“อย่างที่บอกเรื่องของคนเปราะบาง เริ่มจากวันแรกที่เราพูดคุยกันแล้วว่า ตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 บาท เป็นคนเปราะบาง ถ้าสูงกว่า 20,000 บาทไม่เปราะบาง หากคุณได้เงินเดือน 20,000 บาท คุณจะโต้เถียงหรือไม่ เพราะผมก็เปราะบางเหมือนกัน ผมก็มีหนี้เยอะ ต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับ อันนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน ฉะนั้นทาง ป.ป.ช.หน้าที่ของท่านที่เสนอมาในเรื่องของการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ น้อมรับครับ” นายเศรษฐากล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจุดหนึ่งในเรื่องการหาเสียงบอกว่าจะไม่กู้ แต่สุดท้ายประกาศออก พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการดังกล่าวตรงนี้จะอธิบายอย่างไร นายเศรษฐากล่าวว่า ก็ต้องอธิบายให้ได้และต้องอธิบายให้เข้าใจ ขอดูทางออกสุดท้ายก่อน
เมื่อถามว่า ความเห็นของ ป.ป.ช.แบบนี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนความคิดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันทุกความเห็นเราต้องมาคำนึงถึงใหม่หมด
เมื่อถามว่ายังมั่นใจใช่หรือไม่ว่าจะฝ่าวิกฤตความเห็นต่างตรงนี้ไปได้ และแจกเงินดิจิทัลได้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย เราเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง พี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมต้องยอมรับได้ ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่เราต้องบริหารความคาดหวังซึ่งกันและกัน ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและความไม่ก้าวร้าวซึ่งกันและกัน ฉะนั้นตรงนี้ต้องบริหารกันไป
เมื่อถามว่ารู้สึกเหมือนถูกบีบให้ถอยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นหน้าที่ ที่ต้องบริหารจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว