ยิ่งชีพ ไอลอว์ ชี้ทางนายกฯ เคลียร์คดีม็อบ ลุยทวง ‘ความปกติ’ ผ่านนิรโทษกรรม
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เขตพระนคร กรุงเทพฯ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดเสวนา ‘ข้อหาหยุมหยิมมากมาย นิรโทษกรรมเท่าที่ได้ก่อนดีไหม?’ โดยมีเวทีพูดคุย สะท้อนภาพรวมปัญหาการดำเนินคดีทางการเมือง นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์, นายอัครชัย ชัยมณีการเกษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ น.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง นักกิจกรรมการเมือง เป็นต้น
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ในตอนหนึ่งของการเสวนา นายยิ่งชีพ โครงการไอลอว์ กล่าวว่า ตนอยากเล่าให้ฟังโดยเน้นคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีปริมาณเยอะที่สุด จากการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด โดยเฉพาะในช่วงโควิดแพร่ระบาด ทำให้มีเวลาอ่านกฎหมายอยู่บ้านอย่างละเอียด
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อจะบอกว่าควบคุมโรคระบาดโควิด แต่สุดท้ายเอามาใช้ควบคุมผู้ชุมนุมอย่างมากมายมหาศาล จนเป็นต้นเหตุคดีทางการเมือง จากสถิติผู้ที่มีคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งภาพใต้พ.ร.ก.นี้ มีกฎหมายย่อยเยอะมาก ในช่วงนั้นคนหนึ่งคนจะออกไปทำกิจกรรม จะรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยากมาก เพราะไม่รู้ว่านาทีนั้นๆ ข้อห้าม ข้อกำหนดคืออะไร แล้วใช้ฉบับไหนอยู่” นายยิ่งชีพ ระบุ
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ข้อกำหนดมันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ดังนั้น แต่ละครั้งที่เราออกไปร่วมชุมนุม เราจะต้องมีมาตรการจัดการตัวเองอย่างไร เพื่อป้องกันโรค และป้องกันตัวเองอย่างไรจากข้อหา มันเปลี่ยนไปทุกวันเลย
“เปลี่ยนไปจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่แจ้งข้อกล่าวหากับเรา เขาก็จำไม่ได้ เวลาผมเป็นผู้ต้องหา ผมก็จะถามตำรวจอย่างละเอียดทุกครั้งว่า คุณใช้ประกาศฉบับไหนบ้าง คำสั่งฉบับไหนบ้าง เขาก็ไม่รู้พอกัน ตำรวจเองเขาก็ไม่ได้เข้าใจคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด เพราะมันลายตามาก
สิ่งหนึ่งที่เขาเข้าใจ คือ เขารู้ว่าการชุมนุมทั้งหมดมันผิด และเขาสามารถใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ เพราะมันผิดพ.ร.กฉุกเฉิน แล้วถ้าเขายิงแก๊สน้ำตา หรือ กระสุนยาง เขาจะได้รับการยกเว้นการกระทำ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี่คือสิ่งที่ตำรวจเข้าใจ” นายยิ่งชีพชี้
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า สิ่งที่ตำรวจมาแจ้งเราว่า ให้กลับบ้าน สิ่งที่เขารู้ก็แค่ว่า เราฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนมีผู้ชุมนุมหลายคนที่ไม่ยอมกลับ ก็โดนยิง ซึ่งดูจากหน้าตาของคนในห้องนี้ ก็น่าจะโดนแก๊สน้ำตา กระสุนยางกันมาบ้าง
นายยิ่งชีพกล่าวต่อว่า บรรดาคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินมีมากถึง 663 คดี สิ้นสุดไปแล้ว ศาลพิพากษาไปแล้ว 196 คดี ส่วนมากจะอยู่ในชั้นศาล และชั้นที่ยังไม่สั่งฟ้องมากกว่า ซึ่งตนเองก็มีคดีฝ่าฝืนคดีพ.ร.ก.ถึง 10 คดี สั่งฟ้อง 1 นอกนั้นยังไม่มีการพิจารณาที่เสร็จแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างจะสั่งหรือไม่สั่งอีก 9
“อยากชวนดูสถิติเสียหน่อยว่า มีการพิพากษาลงโทษไม่น้อย มีการยกฟ้องเยอะกว่า คือศาลจำนวนมาก มองว่ากำหมายแบบนี้ไม่ถูกต้อง เรื่องแบบนี้ไม่ถูกดำเนินคดี เรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และมีคดีที่ศาลไม่สั่งฟ้องดำเนินคดีก็เยอะ
ส่วนใหญ่แล้วเมื่อดำเนินคดีไปแล้ว มันไม่ได้จะเอาผิด เอาจริง แต่ว่ากระบวนการทั้งหมด มันทำให้เราเหนื่อย ทำให้ทนายเหนื่อยมันทำให้คนรู้สึกว่ายุ่งยากกับชีวิตจังเลย มันทำให้คนที่จะออกไปชุมนุม ไม่อยากเจอแบบนี้ ก้อยากจะไม่ค่อยอยากไปร่วมการชุมนุม นี่คือวัตถุประสงค์ของมัน” นายยิ่งชีพระบุ
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า แม้เราจะเลิกใชข้พ.ร.ก.ฉุกเฉินปีกว่าแล้ว ตั้งแต่กันยายน 2565 แต่คดีความทั้งหมดยังเดินอยู่ ทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล โดยต้องมีคนทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้คดีเหล่านี้ยุติลง โดยไม่จำเป็นต้องสู้กันถึงที่สุดก็ได้
นายยิ่งชีพกล่าวต่อว่า เราสังเกตว่าแม้จะมีคดีจำนวนมาก แต่ก็มีบางคดี เช่น คดีที่ศาลจังหวัดพะเยา คดีนี้ศาลชี้ว่าประกาศฉบับหนึ่งจากทหาร เกินขอบเขตของพ.ร.ก.ฉุกเฉินไป มันใช้ไม่ได้ ซึ่งคดีที่ถูกดำเนินโดยฉบับนี้มันควรใช้ไม่ได้เลย
“ศาลคนนี้เก่งมาก และกล้าหาญมาก แต่หลังจากศาลพะเยาพิพากษาเช่นนี้ ว่าประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มันทำไม่ได้ มันต้องหายไปทั้งหมดเลย แต่มันก็ไม่เกิด มันกลับได้แค่คดีนี้คดีเดียว คดีอื่นก็ยังเดินไป” นายยิ่งชีพชี้
นายยิ่งชีพ กล่าวว่า อีกหนึ่งคดี คือ คดีของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด ศาลแขวงดุสิต พิพากษาได้ดีมาก เขาให้เหตุผลว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้มีไว้ปราบปรามผู้ชุมนุม หรือ ห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างไรเหตุผล คือ ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินดำเนินคดีกับพวกเราไม่ได้
“พอศาลหนึ่งเขาบอกมาแบบนี้แล้ว อัยการ ตำรวจคดีอื่น ไม่ควรจะฟ้องแล้ว แต่ไม่มีใครเชื่อ ก็ยังมีคนฟ้องกันอยู่ และคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังดำเนินอีกหลายศาล ผมเรียนว่า 2 ปีครึ่งภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดอะไรขึ้นเยอะมาก สามารถบอกได้มากมายว่า มันถูกเอามาใช้อย่างไร ไม่ถูกต้องอย่างไร
จนเราได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่งขึ้นมา ชื่อว่าปิดปากผู้ชุมนุมโดยอ้างเหตุสาธารณสุข การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ตอนนี้สามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไอลอว์ มีทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นการรวบรวมทั้งหมดไว้ในรูปแบบออนไลน์ ที่ทุกคนสามารถเข้าไปอ่านได้” นายยิ่งชีพระบุ
นายยิ่งชีพกล่าวว่า ตนอยากทิ้งท้ายด้วยภาพรวมผู้ต้อหาเมื่อวานนนี้ได้ สัก 300 ท่าน หลายท่านก็หลายข้อหา แต่ตนเชื่อว่าเกือบทุกคน โดนพ.ร.ก.ฉุกเฉินแน่นอนเป็นพื้นฐานเลย ซึ่งทำให้คนโดนเยอะมากจนเกิดภาพนี้ ขอให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพนี้ด้วย
นายยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า ตอนที่ตอนถูกตั้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายคดี แล้วเห็นว่าพี่น้องทั้งหลายโดนคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินมากขนาดนี้ ตอนนั้นตนเพียงคิดว่า เดี๋ยวคงจะมีทางออกทางอื่น ที่ไม่ต้องให้ทุกคนขึ้นศาล แต่ว่าโดนสถานะตอนที่มันบังคับใช้ มันออกเป็นข้อกำหนด ประกาศคำสั่งต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหาร
“มันต้องมีทางยกเลิกที่ง่ายกว่านั้นไหม เช่น คณะรัฐมนตรีก็ออกคำสั่งมาเองว่ายกเลิกคดีก็ได้ หรือ ใช้กฎหมายลำดับเล็กๆก็ได้ ผมคิดว่า มันควรจะจบแบบนี้ก็ได้ แล้วก็เคลียร์คดีไปตั้งนานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่มีรัฐบาลใหม่มา พอคุณเศรษฐา ทวีสิน เข้ามา เขาก็ออกคำสั่งนายก คำสั่งครม.ให้คดีมันจบไปได้ไหม ก็รออยู่ปรากฏว่าไม่มี
ทีนี้พอมาถึงต้นปี 67 พอมีการเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ไม่รวมคดีม. 112 แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่า มันรวมเอาคดีม.116 คดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็นตัวประกันว่าคุณจะแลกไหม ซึ่งถ้าคดีพวกนี้จบโดนคำสั่งครม. มันก็ไม่มีตัวประกัน แต่ตอนนี้มันเอาคดีเล็กๆน้อยๆมาเป็นตัวประกัน ขอยกเลิกคดีพวกนี้ก่อน แต่คดีม.112 ติดคุก ” นายยิ่งชีพชี้
นายยิ่งชีพ กล่าวทิ้งท้ายว่า พอมันมาด้วยจังหวะเวลานี้ เราก็ไม่เห็นด้วย จากเหตุการณ์ 3-4 วันที่ผ่านมา สังคม มีภาวะเกลียดชังกัน พร้อมจะใช้กำลังต่อกัน แล้วพอเรามาพูดเรื่อง ม.112 ยกเลิกคดี มันก็เลยเป็นภาวะเครียดกันไปหมด แต่เราคิดว่า เราไม่เอาคดีเล็กน้อยเป็นตัวประกัน การนิรโทษกรรม คืนความปกติให้จำเลยทุกคน ที่แสดงออกทางการเมือง มันก็ต้องไปด้วยกัน