‘ชลน่าน’ โต้ ‘เรวัต’ ออกกฎหมายยาเสพติด มีคณะกรรมการช่วยกันใช้สมองคิด ระบุ มีนโยบายปลุกชุมชนเข้มแข็ง ใช้เป็นฐานบำบัด ดัน รพ.ทำ ‘มินิธัญรักษ์’ รับผู้ป่วยอาการรุนแรง
เมื่อเวลา 12.40 น. วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการขอทบทวนกฎกระทรวง ที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการกำหนดปริมาณการครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 5 เม็ด ว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 ประเภทที่ 5 ซึ่งออกกฎกระทรวงไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนจะทบทวนหรือไม่ ก็ต้องถามว่าคนที่ขอให้ทบทวนเป็นใคร กลุ่มไหน ด้วยเหตุผลอะไร เพราะก่อนออกมาเป็นกฎกระทรวง เราทำร่างมาก่อน และเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ โดยใช้เวลา 15 วัน ให้ทุกคนมาแสดงความเห็น
โดยหลายฝ่ายเสนอว่าต้องครอบครองไม่เกิน 5 เม็ด เราจึงได้นำความเห็นนั้นเสนอต่อ ครม. ให้เห็นชอบ และให้ทางกฤษฎีกาตรวจสอบว่าร่างฉบับดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หลังจากนั้นตนเองจึงได้ลงนามออกมาเป็นกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 31 มกราคม และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงผลการบังคับใช้เป็นอย่างไรนั้น นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องดูว่าประชาชน ประเทศชาติได้รับประโยชน์หรือไม่ เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงชัดเจนเรื่องยาเสพติด จะต้องป้องกัน ปราบปราม บำบัด ฟื้นฟู โดยมีนโยบายให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย และบำบัด กลับคืนเข้าสู่สังคม เราก็ทำตามนโยบายนั้น
ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แสดงความคิดเห็นว่าทางคณะกรรมการเอาอะไรคิดในการออกกฎกระทรวงดังกล่าว นพ.ชลน่านกล่าวว่า แต่ละคนมีสิทธิแสดงความเห็นได้ แต่หลักการที่ออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงต่างกัน ต้องมีกฎหมายแม่ให้อำนาจไว้ ถึงออกได้ ตามมาตรา 107 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเขียนไว้ 2 วรรค ว่าห้ามครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 5 โดยวรรค 2 ระบุไว้ว่า วัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 หากครอบครองจะมีความผิดตามกฎหมาย
แต่ถ้าผู้ใดครอบครองในปริมาณเล็กน้อย ตามกฎกระทรวงให้สันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อเสพ ซึ่งมีเหตุผลเพราะต้องแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า เพราะการค้ารายย่อยจะเริ่มจากผู้เสพในปริมาณน้อยๆ จนไปเป็นผู้ค้า ถ้าเราตัดวงจรนี้ได้ ก็จะตัดวงจรผู้ค้ารายย่อย ดังนั้น การกำหนดปริมาณผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จากคณะกรรมการทุกภาคส่วน ทั้งกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด ที่ตนเองเป็นประธาน คณะป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม ศาล ทหาร ตำรวจ ซึ่งข้อสรุปแบบนี้ และก็ใช้สมองของคนเหล่านี้คิด
เมื่อถามถึงสถานที่บำบัดผู้ป่วยจากยาเสพติดว่าเพียงพอหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราออกนโยบายรองรับ เป็นควิกวินที่ต้องเห็นผลใน 100 วัน จึงได้ตั้งสถานบำบัดยาเสพติด ด้านการแพทย์ครบทุกจังหวัด มีการตั้งหอผู้ป่วยจิตเวช ส่วนโรงพยาบาลชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ได้ทำเป็นมินิธัญรักษ์ กระจายไปหลายร้อยอำเภอ ซึ่งจะสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และสามารถส่งต่อมารักษาที่มินิธัญรักษ์ โดยคาดว่าใช้เวลาในการบำบัดฟื้นฟู 3-4 เดือนถึงจะผ่าน และนโยบายของนายกฯ ให้ความสำคัญกับการปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งชุมชนเป็นฐานในการบำบัด ซึ่งคนที่มีอาการเล็กน้อย ต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพจิตใจด้วย รวมถึงการฝึกอาชีพ การรองรับทางสังคม จนกระทั่งผ่านหลักสูตร เราจะมีหนังสือรับรองจึงจะได้ไม่ต้องรับโทษ แต่หากไม่ผ่านก็ต้องรับโทษ ตามเดิม