อ.พนัสเปิดตัว ‘ลง ส.ว.’ ลั่น รู้ว่ายากแต่ทางออกเดียว 29เบอร์ท็อป-ผู้ทรงภูมิเอาด้วย!

อ.พนัสเปิดตัว ‘ลง ส.ว.’ 29 นักวิชาการเบอร์ท็อป-ผู้ทรงภูมิหลากอาชีพเอาด้วย ลั่น รู้ว่ายาก ‘ทางเดียวเท่านั้นเพื่อเปลี่ยนแปลง’

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอัยการและอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) พร้อมด้วยเพื่อนนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชาและอาชีพ ทั้งนักกฎหมาย อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโส อดีตข้าราชการ อดีตอาจารย์แพทย์ อดีตแกนนำภาคประชาสังคม ชาวสวนทุเรียน ฯลฯ รวม 29 คน ร่วมเสวนาโต๊ะกลม และแถลงจุดยืนการลงสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

อาทิ ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์การเมือง, ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดด้วยศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหว, นายนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษา, หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้สื่อข่าวอาวุโส, นายถนัด ธรรมแก้ว นักเขียน, นายสรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ ข้าราชการ, ,นายอดิศร พร้อมเทพ อดีตอธิบดีกรมประมง, นายอรรถพล ศรีชิษณุวรานนท์ องค์กรผู้พิการเอกชน, ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เป็นต้น

นายพนัส นำเแถลงเจตนารมณ์ในการลงสมัคร ส.ว.ว่า ตนถือเป็นคนแรกที่เปิดตัว แสดงเจตจำนงว่าจะลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในคร้้งนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ดูยุ่งยาก ต้องฝ่าฟันกันอย่างหนักพอสมควรทีเดียว จากระบบการเลือกตั้งที่มีการกำหนดไว้ในในรัฐธรรมนูญอย่างซับซ้อนมากกมายเช่นนี้

Advertisement

“ผมถือโอกาสนี้แถลงจุดยืน โดยเฉพาะตัวผมเอง เชื่อว่าผู้ที่อยู่ที่นี่น่าจะแชร์ความเห็น เห็นด้วยกับจุดยืนบางส่วนหรือทั้งหมดกับที่ผมแถลงในวันนี้เลยก็ได้ ผมมาวันนี้เพราะเป็นประชาชนคนไทย ที่ตระหนักว่าวุฒิสภา เป็นองค์กรมีบทบาทสำคัญต่อระบบรัฐสภาที่เข้มแข็ง โปร่งใส และบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการตรสวจสอบและถ่วงดุล ซึ่งสำคัญยิ่งต่อการวางทิศทางของประเทศ ทั้งการลงมติในการไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมาย การคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างเป็นกลาง และเป็นธรรม

ผมเห็นว่า ระบบกฎหมายในไทยวันนี้ ผิดเพี้ยนไปจากหลักการประชาธิปไตย ถูกบิดผันไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เอื้อต่อผู้มีอำนาจ จนประชาชนโดยทั่วไปเสื่อมศรัทธาต่อกระบวนการนิติธรรม” นายพนัสกล่าว

Advertisement

ในตอนหนึ่ง นายพนัสยังกล่าวถึง รัฐธรรมนูญ 2560 ศาลรัฐธรรมูญ รวมถึงองค์กรอิสร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

“ผมพร้อมสมัครเข้าสู่กระบวนการ เพื่อรับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภาชุดต่อไป ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2567 นี้ โดยมิได้มุ่งหวัง แสวงหา หรือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เพียงมุ่งหมายที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันและยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ และไม่ยอมรับอำนาจนอกรัฐธรรมูญ

ผมตระหนักดีว่า ระบบการคัดเลือก ส.ว.ในปัจจุบัน ยังไม่ยึดโยงกับประชาชนเพียงพอ ไม่สามารถทำให้ได้มาซึ่งตัวแทนของประชาชนที่หลากหลายครบถ้วน แต่เป็นเพียงหนทางเดียวเท่าที่มีในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามหลักการประชาธิปไตย” นายพนัสกล่าว และว่า

นายพนัสกล่าวอีกว่า ตนขอแสดงความประสงค์ ที่จะลงสมัครรับคัดเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เช่นเดียวกันทุกท่านในที่นี่ ด้วยเหตุมีความคิดความเชื่อดังที่กล่าวมาข้างต้นร่วมกัน และความเชื่อเหล่านี่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจประชาชนจำนวนมาก

“ผมหวังว่าจะมีประชาชนคนไทยอีกจำนวนหลักล้านคน ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ลงสมัคร ส.ว.ชุดต่อไป เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย และให้มีการลงคะแนนอย่างกว้างจากประชาชนให้มากที่สุด” นายพนัสกล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น ผู้ที่ประสงจะลงสมัคร ส.ว. กล่าวแนะนำตัวทีละราย

ทั้งนี้ นายพนัส เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ฉบับ 2540, สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จากการเลือกตั้งจังหวัดตาก ปี 2543, ผู้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อม-ประเทศไทย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image