รัฐบาลร่วมฉลองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภา เปิด ‘ทำเนียบ’ จัดใหญ่ฉลองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับสากล คนดังร่วมงานเพียบ ‘มดดำ-วู้ดดี้-ดีเจอ๋อง-บุ๊คโกะ-เจ๊แขกแหกปาก’
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวันเดียวกันนี้ ว่า ได้มีการจัดเตรียมสถานที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่ช่วงเช้า อาทิ การทำถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียมรอบสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ไปจนถึงหน้าประตูตึกไทยคู่ฟ้า และยังมีกิจกรรมภายในงาน เช่น Workshop เพนต์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติ๊กเกอร์ (Sticker Photpbooth) ซุ้มอาหาร ซุ้มดอกไม้ จุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมทั่วงาน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแจกของที่ระลึกสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมให้ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ ธงจิ๋ว พัด สายสะพาย และเข็มกลัด เป็นต้น ขณะที่จุดไฮไลต์เช็กอินคือ มือลมสีรุ้งขนาดยักษ์ พร้อมซุ้มดอกไม้สีสันสดใสเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เดินผ่าน
โดยเมื่อเวลา 17.00 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ประธานในงาน โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ต้อนรับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน ซึ่งเดินขบวนแรลลี่ฉลองสมรสเท่าเทียมจากสภาผู้แทนราษฎรมายังทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่นายภูมิธรรมจะมอบของที่ระลึกและช่อดอกไม้แห่งความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ และภาคประชาชน และปล่อยขบวนจากทำเนียบรัฐบาลไปยังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการร่วมงาน อาทิ เอกอัครราชทูต รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารกระทรวง พม. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และเอกชนด้านความหลากหลายทางเพศ อาทิ นายคชาภา ตันเจริญ หรือมดดำ, นายวุฒิธร มิลินทจินดา หรือวู้ดดี้, นายเขมรัชต์ สุนทรนนท์ หรือดีเจอ๋อง, นายธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล หรือดีเจบุ๊คโกะ และนายไพทูรย์ ขำขัน หรือเจ๊แขก เจ้าของร้านขนมครกเจ๊แขกแหกปาก จ.นครปฐม
นายวราวุธกล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยขอชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา พรรคการเมือง สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมและพี่น้องประชาชน ที่ได้ร่วมกันผลักดันจนกระทั่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ และในวันนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะ มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 เป็นต้นมา จนนำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้
นายวราวุธกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียมประเทศไทย เป็นประเทศที่สามของเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่พวกเราทุกคนทุกเพศควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นความภาคภูมิใจของสังคมไทยที่ร่วมกันผลักดันไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมและเคารพในความหลากหลาย เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง กฎหมายสมรสเท่าเทียมนอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว คู่สมรสยังมีสิทธิและประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ เช่น สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิจัดการศพ สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิของคู่สมรสที่มีสิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในฐานะคู่สมรส
นายวราวุธกล่าวว่า จากการดำเนินการเพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับในสังคมไทยเท่านั้น ยังเป็นการยอมรับในสังคมโลก เป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเสมอภาค รัฐบาลพร้อมเดินหน้านำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็น Pride Friendly Destination อันเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรในทุกด้าน รวมถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยและคนไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างอบอุ่นและเท่าเทียม โอกาสนี้ ตนขอแสดงความยินดีและขอร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความภาคภูมิใจในครั้งนี้ ซึ่งตนตระหนักดีว่าพี่น้องภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพี่น้องชาว LGBTQ+ ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานและอดทน พวกเรารู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย และในช่วงเทศกาล Pride Month ตนเห็นพี่น้องคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่เฝ้ารอกฎหมายฉบับนี้ ด้วยความหวังที่จะได้ดูแลกันและกัน หลายคู่พร้อมจดทะเบียนทันทีเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้
“รัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับทุกคน พร้อมรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อร่วมผลักดันและสร้างความรู้ความเข้าใจให้การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีประสิทธิภาพ และพร้อมผลักดันสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ของบุคคลทุกเพศให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เพราะรัฐบาลเชื่อมั่นว่าทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+ ทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่อยากทำ เป็นในสิ่งที่อยากเป็น และทุกคนมีคุณค่า และควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ความสำเร็จของกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วนพร้อมที่จะร่วมกันส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรากฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ พร้อมทั้งสนับสนุนทุกกิจกรรมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 ต่อไป” นายวราวุธกล่าว