ซีพีเอฟ มาแล้ว แจงกมธ. ปมหมอคางดำ ย้ำมีมาตรฐานสูง ไม่เกี่ยวแพร่ระบาด

‘ซีพีเอฟ’ เข้าแจง กมธ.อว. ปมมาตรการช่วยประชาชน หลัง “ปลาหมอคางดำ” ระบาด ยันไม่ได้เป็นต้นตอ ถามกลับ มันเกิดจากอะไรกันแน่ นำเข้า 2,000 ตัว ทั้งที่มีข่าวส่งออก 300,000 ตัว ย้ำนำเข้าปลาถูกกฎหมาย กว่าจะเข้ามาได้ยุ่งยากมาก เผยเตรียมแผนดึงปลาออกจากระบบไว้ 5 โครงการ รับซื้อ-ปล่อยนักล่า-วิจัย

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 ส.ค. 2567 ที่รัฐสภา กรรมาธิการ(กมธ.) การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกมธ. ประชุมพิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ โดยเชิญ เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา และอธิบดีกรมบัญชีกลาง

นอกจากนี้ ยังมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาโครงการหรือแนวทางของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งตัวแทนฝั่งซีพีเอฟที่มาชี้แจงนั้น มีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ในฐานะประธานคณะผู้บริหาร

ภายหลังประชุมเสร็จ นายประสิทธิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเข้าชี้แจงในวันนี้ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เป็นการให้ข้อมูลตามที่เคยแจ้งไว้ ส่วนโครงการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ก็คงเป็นไปตาม 5 โครงการที่ทำอยู่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หลักๆที่มาชี้แจงวันนี้ก็เป็นเรื่อง 5 โครงการนี้เป็นหลัก ตนขอเรียนเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกสองสถาบันที่อยากเข้ามามีส่วนร่วม เราก็ได้เรียนกับคณะกรรมาธิการ ว่าจะมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่เข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เราก็คิดว่าควรมีส่วนช่วยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามแต่ จะเกี่ยวข้องกับบริษัทหรือไม่เกี่ยวข้อง เหมือนกับช่วงโควิด เราก็ถือเป็นบริษัทหนึ่ง ก็เข้าไปช่วยส่งอาหารไปตามที่ต่างๆ จำนวนหลายล้านกล่อง คงเป็นลักษณะคล้ายคลึงกัน

Advertisement

“เราคงตั้งเป้าหมายว่า จะดึงปลาออกจากระบบให้เร็วที่สุด ประมาณ 2 ล้านกิโลกรัม และคงสนับสนุนปลาอีก 2 แสนตัว ในการช่วยกำจัดให้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องอื่นจะเป็นเรื่องงานวิจัย ก็ต้องดูว่าผลการวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน” นายประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าจะมีการเปิดเผยภาพหลักฐานบ้างหรือไม่ นายประสิทธิ์กล่าวว่า เป็นไปตามที่แจ้ง อาจจะพูดมากไม่ได้ เพราะอาจจะมีการที่บางท่านเอาภาพที่ไม่ถูกต้องมาเผยแพร่ แต่ยืนยันว่าได้ส่งให้กับทางกรมประมง ย้ำว่าสิ่งที่เราชี้แจงไปเพียงพอแล้ว ส่วนที่คนสงสัยเรื่องภาพ ตามกระบวนการนั้นเราก็ให้คนติดต่อ นำไปให้ตามจำนวนปลาที่ตกลงกัน ย้ำว่ามีกระบวนการจัดการที่เป็นมาตรฐาน

Advertisement

“กับเรื่องที่มีการส่งออก ตั้ง 3 แสนกว่าตัว ห่างกัน 150 เท่า ผมคิดว่าเอ๊ะ น่าจะไปพิจารณาว่าการแพร่กระจาย มันเกิดจากอะไรกันแน่” นายประสิทธิ์ กล่าว

นายประสิทธิ์ ยืนยันว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ได้เกิดจากซีพีเอฟ ส่วนเกิดจากอะไรนั้นก็คงต้องให้คณะกรรมาธิการ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องติดตาม

“ฝากนักข่าวไปลองพิจารณาเพิ่มเติม ว่า 2,000 ตัว กับ 3 แสนกว่าตัว ที่ส่งออกนะครับ ไม่ใช่นำเข้า เอ๊ะ มันมาจากไหน เราคงคอมเม้นต์มากไม่ได้”นายประสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าน่าจะมีบริษัทอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า “มันมีข่าวอยู่แล้วนี่ครับ” มีหลักฐานอยู่แล้วว่ามีจำนวนการส่งออกปลาหมอคางดำ จาก 11 บริษัทไป 17 ประเทศ ประเด็นนี้เราเห็นข้อมูลจากกรมประมง และข่าวต่างๆที่มีคนไปสืบค้นเพิ่มเติม

เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้มั่นใจว่าซีพีเอฟไม่เกี่ยวข้อง นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ในฟาร์มที่เป็นระบบ มีมาตรฐานสูง เรายืนยัน ไปกับทางกรมประมงแล้ว ปลาที่มาอยู่กับเราเป็นลูกปลาซะด้วยซ้ำ ถ้าท่านที่เคยเลี้ยงปลาดี จะทราบว่าปลาที่เอามา 2,000 ตัว แล้วมาถึงที่สนามบิน เหลืออยู่ 600 สภาพไม่แข็งแรง ซึ่งแสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือคือไม่แข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่ของกรมกรมประมง มาตรวจเช็กที่สนามบิน พร้อมย้ำว่าเป็นเรื่องปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำนวนปลาที่ตายทำไมถึงเป็นตัวเลขกลม ๆ นายประสิทธิ์ชี้แจงว่า เป็นการประมาณการ ซึ่งตอนนั้นนำเข้ามาวิจัยและพัฒนา โดยมีแนวคิดตั้งต้นมาจากการประชุม พัฒนาสายพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนปี 2549 ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่แนวคิดในการทดลอง ซึ่งกระบวนการก็ยุ่งยากมาก กว่าจะนำเข้ามาได้อย่างถูกกฎหมาย แล้วเอาเข้ามาปลาไม่สมบูรณ์ เราก็ปิดโครงการ

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวจากซีพีเอฟ ระบุว่า บริษัทได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ตามคำเชิญเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นการดำเนินการของบริษัท โดยยืนยันว่าเป็นผู้นำเข้าถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาปลาหมอคางดำ โดยบริษัทมีการดำเนินการกักกัน (Quarantine) ลูกปลาอย่างถูกต้อง ตลอด 16 วัน และย้ำว่าหลังการทำลายลูกปลาที่เหลือทั้งหมด บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 รวมถึงไม่การดำเนินการเชิงพาณิชย์ใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่กรมประมงเข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มเมื่อปี 2560 เป็นการสุ่มตรวจในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ฟาร์มไม่มีการเลี้ยงปลาใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างปิดปรับปรุงฟาร์ม สำหรับกรณีไม่อนุญาตบันทึกภาพและเสียง เนื่องจากมีรายละเอียดที่มีผลทางกฎหมาย

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า ซีพีเอฟมีความตั้งใจและยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำตามมาตรการ 7 ข้อของรัฐบาล เช่น การจับปลาเพื่อลดปริมาณปลาหมอคางดำจากแหล่งแพร่ระบาด การปล่อยปลาผู้ล่าหลังปลาหมอคางดำลด การใช้ประโยชน์จากปลาไม่ให้สูญเปล่า ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำข้างเคียง ให้ความรู้ประชาชนและรู้จักวิธีกป้องกันอันตรายจากสัตว์น้ำต่างถิ่น เป็นต้น

ปัจจุบัน ซีพีเอฟดำเนินโครงการที่สอดคล้องตามแนวทางของภาครัฐ 5 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดจำนวน 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรับมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม
  2. โครงการสนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว ตามแนวทางของกรมประมง และมีการปล่อยปลากะพงขาวไปแล้ว 49,000 ตัว โดยร่วมมือกับชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่พบการระบาด
  3. โครงการสนับสนุนการจับปลา ตลอดจนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในพื้นที่
  4. โครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ
  5. โครงการร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว รวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image