‘นันทนา’ เผย กมธ.ประชามติ กลับลำไม่เอาร่าง ส.ส. เชื่อกระทบยกร่าง รธน.ใหม่ ไม่ทันสภาชุดนี้แน่
เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่รัฐสภา นางนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่า ส.ว.ได้ประชุมกันเรื่องนี้เป็นครั้ง 5 แล้ว โดยที่ผ่านมาเราได้พูดคุยกันในเรื่องหลักการและเหตุผลในการจะทำประชามติตามร่างการทำประชามติของส.ส.ที่ส่งมา คือเป็นแบบเสียงข้างมากปกติ เป็นเสียงของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์นั้นเป็นเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ แต่วันนี้มีการกลับมติ คือกลับไปสนับสนุนการใช้แบบที่ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเป็นข้อสังเกตว่าในการประชุมของกมธ.ผ่านมาเราเห็นสอดคล้องกัน แล้วมาวันนี้กลับมีการให้ทบทวนมติของกรรมาธิการถึง 17 เสียง แต่มีเสียงเดียวคือตนที่ให้คงร่างเดิมของส.ส. จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อยข้างผิดปกติ โดยการทำประชามตินั้นควรเป็นการทำที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และมีโอกาสที่จะเป็นจริงได้มากที่สุด คือการใช้เสียงข้างมากธรรมดาเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์ แต่วันนี้กลับมีการเปลี่ยนแปลงมติแบบจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ฉะนั้นแล้วการทำพ.ร.บ.ประชามติถ้ามีเสียงค้านจาก ส.ว.ก็คงไม่สามารถทำได้ทันกับเวลาของการเลือกต้องท้องถิ่น ในเดือนก.พ.67
ถามว่ามองว่าเป็นเกมที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่เกิดขึ้นทันสภาชุดนี้หรือไม่ นางนันทนา กล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นการทำให้กระบวนการยืดเยื้อออกไป เพราะหลังจากที่ส.ว.ไม่เห็นชอบกับร่างของทาง ส.ส.ก็จะต้องมีการตั้งกมธ.ร่วมขึ้นมา ดังนั้นนอกเหนือจากการยืดเยื้อออกไปแล้วความเป็นจริงที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ก็แทบไม่เห็นเลย โดยการตั้งกมธ.ร่วมก็ต้องมีการมาถกเถียงกันว่าจะมีมติเป็นอย่างไรในการแก้พ.ร.บ.ประชามตินี้ ซึ่งก็จะต้องใช้เวลามากกว่า 60 วันในการจะตั้งกมธ.ร่วม นั้นก็จะเกินเวลาที่กำหนดไว้แล้ว
เมื่อถามว่ามองอย่างไรเมื่อตอนแรกทุกพรรคอยากให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่มากลับมติ นางนันทนา กล่าวว่า มองในแง่ของส.ว.คงระบุเฉพาะเจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่งที่มีแนวโน้มไม่อยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะกลุ่มของส.ว.จำนวนมากๆนั้น ลงมติไปพร้อมเพรียงกันในลักษณะนั้น ก็เชื่อว่าอาจเป็นทิศทางของพรรคการเมืองนั้น ที่ไม่อยากให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวาระสมัยของสภาชุดนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่เมื่อตั้งกมธ.ร่วมแล้ว จะกลับไปใช้เสียงข้างมากแบบร่างของส.ส. นางนันทนา กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับกมธ.จะมองอย่างไร เพราะในสัดส่วนกมธ.ร่วมจะมีพรรคการเมืองต่างๆเข้ามา และพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลในส่วนของวุฒิสภาก็อาจจะกลายเป็นเสียงที่ไม่สนับสนุนแบบเสียงข้างมากธรรมดาก็ได้
เมื่อถามว่ามีบางพรรคการเมืองที่จะเริ่มถอยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา นางนันทนา กล่าวว่า เข้าใจว่าพอมีการเสนอเรื่องนี้มาก็มีเสียงคัดค้านออกมา ก็อาจจะถอยออกมาแล้วไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะการแก้รายมาตราอาจจะเป็นอุปสรรคผ่านไปได้ยาก จึงอาจจะเป็นการถอยมาตั้งหลัก แต่ถ้าพ.ร.บ.ประชามติยืดเยื้อออกไป ก็น่าจะทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจจะยืดเยื้อและไม่ทันสมัยของสภาชุดนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เหนือฝนลด เริ่มมีอากาศเย็นตอนเช้า ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพ ตกหนักถึงหนักมาก น้ำอาจท่วมฉับพลัน
- นายกฯอิ๊งค์เผยดึง ‘เต้น’ กุนซือ ไทม์มิ่งเหมาะ เจ้าตัวแจงเหตุกลับลำ เรืองไกร ยื่นกกต.สอบทันที
- ลูกเด้งสาวไทยพ่ายฮ่องกง ตกรอบศึกชิงแชมป์เอเชีย
- ‘อนุทิน’ ตอบแล้ว ‘เนวิน’ เข้าจันทร์ส่องหล้า กินมื้อเย็นฉลองวันเกิด ยันไม่มีนายกฯคนละครึ่ง