พท.พร้อมถกกรณี ‘พิศาล’ เคาะท่าที ถ้าหนีคดีตากใบ ‘วิปรบ.-ค้าน’หารือนิรโทษ ‘จุรินทร์’ แนะเลื่อนเข้าสภา
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีศาลออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.) ผู้ต้องหาคดีตากใบ พรรค พท.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมพรรคในวันที่ 15 ตุลาคม หรือไม่ ว่า ตามวาระการประชุมไม่มีเรื่องนี้
แต่ถ้ามีใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาคงได้คุยกัน แต่ขณะนี้ทางพรรคอยู่ระหว่างประสานให้กลับมาสู้คดี ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะถือว่าการหนีคดีเช่นนี้ทำให้พรรค พท.เสียหาย ทั้งนี้ ครั้งสุดท้ายที่สามารถติดต่อท่านได้คือเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้เลย ดังนั้นหาก พล.อ.พิศาลไม่ดำเนินการอะไรจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม ที่คดีจะขาดอายุความ ทางพรรคคงมีมาตรการอะไรออกมาที่ชัดเจน เนื่องจากทางพรรคต้องรับผิดชอบต่อสังคม
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพท.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมี ส.ส.พรรค พท.หลายคนเห็นด้วยกับการขับ พล.อ.พิศาลออกจากพรรค ก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม จะนําเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมพรรคในวันที่ 15 ตุลาคมหรือไม่ ว่า ส.ส.ทุกคนเป็นตัวแทนของประชาชน หากเรื่องใดกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ต้องหยิบยกมาหารือกัน เชื่อว่าจะมี ส.ส.สะท้อนวิธีคิดเช่นนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีใครนิ่งนอนใจ
หาก พล.อ.พิศาลพ้นจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ สามารถเลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมาได้ แต่หากกลับมาหลังจากคดีหมดอายุความ เชื่อว่าสังคมจะเกิดความกังขา และ ส.ส.พรรค พท.คงต้องให้ พล.อ.พิศาลแสดงความรับผิดชอบ ทั้งนี้ กรณี ส.ส.ถูกขับพ้นพรรคต้องเป็นไปตามมาตรา 101 (9) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าต้องเป็นไปตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น หาก ส.ส.คนที่ถูกขับพ้นพรรค ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พรรคมีมติ ส.ส.จะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น
ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์นี้ ว่า คิดว่าในวันที่ 15 ตุลาคม ทางวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน จะร่วมกันหารือรายงานดังกล่าว
ทั้งนี้ คิดว่าจะพิจารณาเป็นเรื่องด่วนได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุวาระไว้แล้ว หากแนวทางที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสนอมา ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมก็จะส่งให้ดำเนินการต่อไป คาดว่าจะเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ แต่สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับจริง ยังไม่มีความแน่ชัด
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีอาจมีการนำผลการศึกษาของคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาในสัปดาห์นี้ ว่า ผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญฯ เป็นเรื่องล่อแหลม เนื่องจากได้มีการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 เข้าไปด้วย ซึ่งยังเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างกันอยู่มาก ทั้งในหมู่พรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันและประชาชน
หากสภาพิจารณาแล้วมีมติเห็นควรส่งให้รัฐบาลรับไปพิจารณา ปัญหาก็จะตกไปอยู่กับรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลมีปัญหามากแล้วทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ จนแก้กันไม่หวาดไม่ไหว จึงเห็นว่ายังไม่ควรเอาเรื่องนี้สุมเพิ่มเข้าไปอีก