มทภ.1 ตรวจชายแดนตะวันตก เข้มสกัดยาเสพติด-สิ่งผิดกม.-คอลเซ็นเตอร์ ขณะที่ ทบ.นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามมาตรการ Seal Stop Safe ณ ด่านศุลกากร และจุดผ่านแดนถาวรพุน้ำร้อน
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ พื้นที่ชายแดนภาคตะวันตก (นบ.ยส.17) ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกองกำลังสุรสีห์ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 8 – 9 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของกำลังพล มอบนโยบาย พร้อมทั้งให้โอวาท มอบสิ่งของบำรุงขวัญ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับกำลังพลปฏิบัติหน้าที่ และเยี่ยมชมการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำ พร้อมชมการสาธิตยุทโธปกรณ์พิเศษ และการลาดตระเวนทางน้ำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
พล.ท.อมฤต ได้เน้นย้ำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการสกัดกั้นกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่แนวชายแดน เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องช่องทางข้ามแดน, การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย, การก่ออาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสกัดกั้นการก่ออาชญากรรมในรูปแบบ Call center, การป้องกันยาเสพติด ตามกลไกโครงสร้างของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันตก พร้อมทั้งหาโอกาสพบปะพัฒนาสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนข่าวสารกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานร่วมกัน
ต่อมาที่ศุลกากรด่านพุน้ำร้อน พ.อ.ฐิต์รัชช์ สมบัติศิริ รองเลขานุการกองทัพบก/โฆษกกองทัพบก นำคณะสื่อมวลชนสายทหารลงพื้นที่เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารชายแดนร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามการปฏิบัติงานและเข้าร่วมการประชุมขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด และการกระทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง
ทั้งนี้ พล.ท.อมฤต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังสุรสีห์, มณฑลทหารบกที่ 17, หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันตก (นบ.ยส.17), ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดกาญจนบุรี และส่วนราชการในพื้นที่ อาทิ ศุลกากร, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง, จังหวัดกาญจนบุรี, องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี และตำรวจภูธรจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อรักษาความสงบสุข สกัดกั้นยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายไม่ให้รั่วไหลเข้ามาในประเทศไทย สำหรับการค้าชายแดนไทย – เมียนมา บริเวณด่านพรมแดนบ้านพุน้ำร้อนในปีงบประมาณ 2568 นี้ มีมูลค่าการนำเข้า 3.08 ล้านบาท และมูลค่าการส่งออก 31.78 ล้านบาท แสดงถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ชายแดนแห่งนี้ ที่เชื่อมโยงระหว่างไทยและเมียนมา ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนย่อมมาพร้อมกับ ความเสี่ยงด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการลักลอบนำเข้ายาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย และการหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ดังนั้น การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและส่วนราชการในพื้นที่จึงมีความสำคัญ เพื่อให้การค้าชายแดนดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้ร่วมคณะแม่ทัพภาคที่ 1 เดินทางไปยังช่องทางพุน้ำร้อน ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวร มีกองร้อยทหารพรานที่ 1404 หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า เป็นหน่วยรับผิดชอบพื้นที่ เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
จากนั้นคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการ “ทหารพันธุ์ดี” ของกองพลทหารราบที่ 9 ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ส่งเสริมให้ทหารและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งสนับสนุนในการผลิตและสะสมสำรองเมล็ดพันธุ์ผักและพันธุ์สัตว์สำหรับพระราชทานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งกองพลทหารราบที่ 9 ได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริฯ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน สร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งในด้านการเพาะปลูก, การเลี้ยงสัตว์ และประมง
โดยจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพระราชทานฯ, ศูนย์ผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทานฯ, ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาน้ำจืดพระราชทานฯ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พืช, ผักปลอดภัย และพันธุ์ปลาน้ำจืด แจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ยังมีการทดลองเลี้ยงหมูดำพันธุ์ซูไท่ เพื่อขยายความรู้ในด้านการเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น จุดสำคัญของโครงการทหารพันธุ์ดี อีกหนึ่งประการ คือ “การผลิตทหารพันธุ์ดี” ซึ่งหมายถึงทหารกองประจำการของหน่วย ที่ได้รับการอบรม พัฒนาทักษะความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรกลับไปขยายผลยังพื้นที่ของตน ตลอดจน สามารถเป็นผู้นำในการถ่ายทอดองค์ความรู้กลับสู่ครอบครัวและชุมชน เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเอง และสร้างความยั่งยืนให้กับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนและสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง