เลขา ป.ป.ท. ชี้ แก้ทุจริต ต้องยึดธรรมาภิบาล แจงม.44 ช่วยแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว

เลขา ป.ป.ท. ชี้ แก้ทุจริต ต้องยึดธรรมาภิบาล หน่วยงานรัฐต้องสร้างกลไกป้องป้องกันให้เข้มแข็ง แจงม.44 ช่วยแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 22 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทยจัดงานประชุมสัมมนาวิชาการยุทธศาสตร์ชาติและทิศทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) และการใช้มาตรา 44 ต่อการทุจริตภาครัฐ” ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือว่าเป็นองค์กรที่สำคัญ ในการทำงาน ทุกคนมีหน้าที่ โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายก็ต้องทำตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ การปฏิบัติหน้าที่ต้องทำตามขั้นตอน เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่ทำเพื่อประโยชน์ของตนเองโดยให้อยู่ในกรอบธรรมาภิบาล 6 ประการ คือ หลักนิติธรรม คุณธรรม โปร่งใสตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม รับผิดชอบ และคุ้มค่า หากอยู่ในกรอบนี้จะไม่มีทางจะทุจริตได้ และหากผู้บังคับบัญชากำกับให้อยู่ในกรอบดังกล่าวได้ ปัญหาการทุจริตจะไม่บานปลาย แต่ปรากฏว่าก่อนปี 2557 มีปัญหาเรื่องกลไกที่ไม่สามารถทำงานได้ ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลดังกล่าว ทั้งการป้องกันและปราบปรามที่ไม่ได้ผล โครงสร้างของระบบราชการที่อ่อนแอ ตลอดจนวิธีการเลือกตั้งที่ไม่สามารถสกัดคนที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในระบบได้ และปัญหาเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ทั้งหมดจึงทำให้ระบบอ่อนแอ จนเกิดปัญหา เช่น กรณีจำนำข้าว การก่อสร้างสนามฟุตซอล ของกระทรวงศึกษาธิการ การทุจริตในอปท. การจัดซื้อนาฬิกาของสภา เป็นต้น

นายประยงค์กล่าวว่า หลังรัฐบาลนี้เข้ามา ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนสถานการณ์เรื่องการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งเป็นเส้นทางพิเศษเข้ามาแก้ไขได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้อยู่นาน ดังนั้นในระหว่างนี้จึงต้องสร้างกลไกที่เข้มแข็งให้กับหน่วยงาน โดยคตช. เข้ามากระตุ้นทำงานโดยเฉพาะกลไกป้องกันและตรวจสอบ เมื่อรับเรื่องร้องเรียนการทุจริตเข้ามาจะมี ป.ป.ท. รับเรื่องมาตรวจสอบ และส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดไปดำเนินการ ถ้ายังไม่ได้ผลจะรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบหรือส่งให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ และถ้ายังไม่ได้ผลก็จะมียาแรงคือใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาดำเนินการ กับหัวหน้าส่วนราชการที่รับรู้แต่ยังไม่ดำเนินการ ถ้าตรวจสอบพบว่าผิดก็ต้องว่าไปตามขั้นตอน ถ้าไม่ผิดก็คืนความเป็นธรรมให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่าย ที่นาย พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การทุจริต ความไม่โปร่งใส การตรวจสอบของ สตง. ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” แต่ปรากฏว่าได้ยกเลิกกะทันหัน เนื่องจากติดประชุมด่วน และได้มอบหมายให้นางชลาลัย สุขสถิตย์ ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาค 1 เป็นผู้บรรยายในหัวข้อดังกล่าวแทน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image