เท้ง ลุยอยุธยา-ปทุมธานี เสนอ 4 ทางแก้น้ำท่วมซ้ำซาก จากนโยบายรัฐไม่สอดคล้องการทำเกษตร

‘เท้งทั่วไทย’ เดินทางไปอยุธยา-ปทุมธานี รับฟังปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พบนโยบายปล่อยน้ำของรัฐไม่ชัดเจน ทำชาวบ้าน-เกษตรกรรับกรรม จี้เร่งปรับปรุงแผน-แจ้งประชาชนล่วงหน้า-ชดเชยเยียวยาให้ครอบคลุม

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน เดินทางไปที่ ต.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อมาติดตามสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก ที่แหล่งรับน้ำบางบาล และรับฟังปัญหาจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ซึ่งตนเคยมาลงพื้นที่บางบาลเมื่อช่วงสถานการณ์น้ำท่วมปลายปีก่อน โดยได้มารับฟังและรับทราบสถานการณ์ปัญหาของพี่น้องชาวบางบาลด้วยความห่วงใยและกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง

ในครั้งนี้ได้มาพูดคุยรับฟังปัญหาชาวนาในพื้นที่ ซึ่งได้สะท้อนความลำบากในการทำเกษตร โดยชาวนาในพื้นที่ได้พยายามปรับตัวตอบรับกับนโยบายของรัฐที่จะให้ตำบลบางบาลเป็นทุ่งรับน้ำ แต่การเยียวยา และนโยบายการเกษตรของภาครัฐกลับไม่สอดคล้องกับการทำเกษตรในพื้นที่

ADVERTISMENT

หลังจากนั้นได้ไปที่เวทีส่งเสียงบางบาลผู้นำฝ่ายค้าน ในการติดตามปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และนำเสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมเบื้องต้นแบบทุ่งน้ำบาลในเวทีนี้ ตนจึงได้มีการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับชาวบ้านในพื้นที่บางบาล โดยสามารถแบ่งข้อเสนอได้เป็น 4 ด้านดังนี้

ADVERTISMENT

1.ด้านการบริหารจัดการน้ำควรปรับปรุงแผนระบายน้ำให้ชัดเจน และสื่อสารกับประชาชน รวมถึงการขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงประตูน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมจัดตั้งองค์กรกลางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และรับข้อมูล

2.ด้านการชดเชย และเยียวยาควรครอบคลุมเจ้าของที่ดินที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย จัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะ

3.ในระหว่างน้ำท่วม ควรจัดหาเรือรับส่ง เสื้อชูชีพ และจุดอพยพที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ลดค่าบริการน้ำ และไฟฟ้า

4.การฟื้นฟูหลังน้ำลด ควรสนับสนุนการปลูกพืชสวนครัว แจกอุปกรณ์การเกษตร จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อการฟื้นฟูทั้งระยะสั้น ระยะยาว

นอกจากนี้ ยังได้มาลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากปัญหาตลิ่งทรุดพัง 20 กว่าปีไม่มีการแก้ไข ซึ่งประชาชนในพื้นที่เชื่อว่าเกิดจากการเดินเรือขนส่งสินค้า โดยเรื่องดังกล่าวตนจะนำไปผลักดันในกรรมาธิการต่อไป และช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่วัดเจดีย์ทองที่ จ.ปทุมธานี เพื่อดูปัญหาการรับมือจากน้ำท่วมซึ่งได้รับฟังการสะท้อนปัญหาประชาชนถึงปัญหาการรับมือน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าว คือ การประกาศข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยน้ำทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่อาจเตรียมตัวได้ทัน เมื่อมีสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นมา และการประกาศเป็นสถานการณ์ภัยพิบัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีหลักเกณฑ์การประกาศสถานการณ์ไม่เท่ากัน จึงส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้คนในพื้นที่

ปัญหาเหล่านี้จะถูกบรรเทา และแก้ไขได้มากขึ้น หากเราสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เพื่อให้อำนาจกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการ ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของบุคลากรและงบประมาณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image