มติเอกฉันท์ 200 สนช. ผ่านร่าง กม.แข่งขันทางการค้า หลัง กมธ.ยอมถอย

มติเอกฉันท์ 200 สนช. ผ่าน ร่าง กม.แข่งขันทางการค้า หลัง กมธ.ยอมถอย ถูก สนช.สายธุรกิจ ค้านหนัก ปม ควบรวมกิจการ

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่ประธาน ได้ลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ…ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วในวาระ3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 4 และให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีจำนวน 89 มาตรา และเป็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ที่มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรูปแบบและพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ให้มีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จำนวน 7 คน ที่ต้องมีผลงาน ประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 10 ปีในสาขาต่างๆที่จะเป็นประโยชน์ในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า โดยต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดๆในสถาบันหรือสมาคมซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หรือประโยชน์ร่วมกันทางการค้า โดยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีออกกฎกระทรวง ออกระเบียบ กำกับดูแลการประกอบธุรกิจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้มีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นรูปธรรม พิจารณากำหนดโทษปรับทางการปกครอง เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสนช.ที่เป็นสายภาคธุรกิจ อาทิ นายสุพรรณ มงคลสุธี นายอิสระ ว่องกุศลกิจ นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เป็นต้น ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยในมาตรา 51 เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจ ที่คณะกมธ.ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเดิมที่กำหนดมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งกมธ.ฯได้มีการเติมข้อความตอนท้ายว่า “ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ” ซึ่งหมายความว่า การรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการผูกขาดหรือลดการแข่งขันทุกประเภทหากจะรวมธุรกิจจะต้องมีการขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน ซึ่งเหมือนเป็นการผูกขาดไปในตัวเพราะคณะกรรมการจะเป็นผู้อนุญาตเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายจากธุรกิจและหากการไปขออนุญาตซึ่งจะมีการแจ้งข้อมูลต่างๆทางธุรกิจ อาจทำให้ความลับทางการค้าเกิดการรั่วไหล ทำให้คู่แข่งทางการค้ามีการได้เปรียบเสียเปรียบทันที

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง กมธ.ก็ยินยอมไปปรับปรุงมาตราดังกล่าวใหม่ โดยแก้ไขมาตา 51 เป็น 2 ส่วนคือ 1.ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องแจ้งผลการรวมธุรกิจต่อคณะกรรมการฯภายใน 7 วันนับแต่วันที่รวมธุรกิจ และ2.ให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่กระทำการรวมธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯประกาศกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image