ส่งตัว ‘ขนุน’ ไป ร.พ.ราชทัณฑ์ หลังอดอาหารเข้าวันที่ 6 เปิดแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ฝากคำนิยาม ‘ชีวิต’
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” โพสต์ข้อความระบุว่า
“ขนุน” อดอาหารเข้าวันที่ 6 ย้ำ อิสรภาพที่ถาวรสำคัญต่อ ‘ชีวิต’ เช่นเดียวกันกับการยุติการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่าง ม.112
26 ก.พ. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักกิจกรรมวัย 24 ปี และผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังขนุนได้ตัดสินใจเริ่มอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องการสร้างอิสรภาพที่ถาวรสำหรับผู้ถูกกล่าวหาทางการเมือง มาตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2568 วันนี้นับเป็นการอดอาหารวันที่ 6 แล้ว
วันนี้ ทนายเข้าเยี่ยมขนุนผ่านระบบ VDO call และเช่นเดิม ซึ่งกล้องของแดน 4 มีปัญหา ฝั่งผู้ต้องขังมองเห็นทนาย แต่ฝั่งทนายจะมองไม่เห็นผู้ต้องขัง
เสียงของขนุน จากปลายสายโทรศัพท์ยังพูดชัดถ้อยชัดคำ แต่น้ำเสียงดูโรยแรงกว่าวันก่อน ๆ ขนุนเล่าว่า เมื่อคืนอากาศที่นี่อากาศเย็น ๆ เรียกว่าหนาวเลยก็ว่าได้ สุขภาพของเขาตอนนี้เหมือนคนป่วย ร่างกายอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน แต่ก็ไม่ได้มีอาการปวดหัวหรือปวดไมเกรน
ตอนนี้กำลังวังชามันถดถอยลงทุกวัน มีอาการวิงเวียนตอนลุกขึ้นยืนหรือเดิน แต่ถ้านั่งเฉย ๆ ก็ไม่ได้มีอาการอะไร เขาจึงเลือกที่จะไม่ใช้แรง ไม่เดิน นั่งรถเข็นอย่างเดียว บริเวณใต้เล็บยังคงมีสีม่วง อาการชาตามตัวยังมีอยู่เรื่อย ๆ เวลาพักผ่อนก็ไม่ใช่การพักเพื่อฟื้นตัว แต่เป็นการพักเพื่อเซฟแรง เมื่อวานเขาก็ไม่ได้นอนตลอดเวลา สักพักนึงก็ต้องออกไปตรวจร่างกาย เดี๋ยวก็ออกไปพบทนาย ออกไปเยี่ยมญาติ พอกลับเข้ามา ก็ได้เวลาเตรียมขึ้นเรือนนอนพอดี
ขนุนเล่าต่ออีกว่า เมื่อวานมีเรื่องตลกเกิดขึ้นกับเขา เหมือนสมองเริ่มหลอกหลอน อยู่ ๆ เขาก็นึกถึงปลากระป๋องทั้งวัน เพราะตอนที่อยู่ข้างนอกที่บ้านไม่ให้กินอาหารพวกนี้ แต่เพิ่งจะได้กินตอนเข้าเรือนจำ สมองเขาคิดว่า จะเป็นยังไง ถ้าทำยำปลากระป๋อง ถ้าเอามาซาล่ามาใส่ ถ้าเอาเต้าหู้มาใส่ จะเป็นยังไง เหมือนว่าร่างกายกำลังเรียกร้องหาอาหาร เขาเลยมองว่าเป็นเรื่องตลกดี นอกจากนี้เขายังคิดว่าอาจจะลิสต์เมนูอาหารที่นึกถึงในระหว่างอดอาหารไว้ด้วย

เมื่อพูดคุยกันสักพัก ขนุนได้ฝากนิยามคำว่า ‘ชีวิต’ สำหรับเขา เป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ดังนี้
แถลงการณ์ฉบับที่สี่
‘ชีวิต’
ชีวิตในนิยามของผมมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- อิสรภาพ
- เสรีภาพ
- ครอบครัวคนรักและมิตรสหาย
หากขาดสิ่งใดไป คงยากจะเรียกว่าชีวิตที่ดี ในยามนี้ผมขาดไป 2 สิ่ง คือ อิสรภาพและเสรีภาพ อิสรภาพคงตรงตัวในนิยามของมัน แต่เสรีภาพมันมากกว่านั้น เสรีภาพที่ผมจะเลือกศึกษา เสรีภาพที่ผมเลือกจะกำหนดอนาคตของตนเอง เสรีภาพที่จะใช้ชีวิต แต่ทุกอย่างมาติดที่ปมเดียว อย่างการถูกกล่าวหาในคดีความทางการเมืองจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ การมีอิสรภาพที่ถาวรจึงสำคัญ เช่นเดียวกับการยุติการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ตรวจสอบไม่ได้ อย่างมาตรา 112
แด่อิสรภาพที่ถาวร
สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ
26 กุมภาพันธ์ 2568
ก่อนที่จะจากกัน ทนายบอกกับขนุนว่าหากยืนยันอดอาหารต่อไป ขอให้ขนุนให้กินเกลือแร่ด้วย เพื่อที่จะได้มีแรง อีกทั้งขนุนจะต้องออกไปตามนัดหมายของศาล ในวันที่ 4-5 มี.ค. นี้ ขนุนตอบว่าจะรับไปพิจารณาดูอีกทีจากนั้นขนุนแจ้งว่าคงต้องวางสายก่อน เพราะเจ้าหน้าที่จะเริ่มกระบวนการในการเคลื่อนย้ายเขาไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ต่อมาเวลา 13.42 น. ทนายได้รับแจ้งว่าขนุนเพิ่งถูกส่งตัวมาที่ ร.พ.ราชทัณฑ์ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าแพทย์จะรับตัวไว้รักษาหรือไม่
