แม่พ้อ ‘สยาม ธีรวุฒิ’ หาย 5 ปีไม่ช่วยตามหา แต่มาเฝ้าที่บ้าน วงเสวนา ชี้ 2 ปี พ.ร.บ.ยังเป็นแค่กระดาษ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่ชั้น 3 Slowcombo (สโลว์คอมโบ) สามย่าน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน ‘Echoes of Hope ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง: 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’ เพื่อร่วมย้อนเส้นทางตลอด 2 ปี ที่ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งบทเรียน เรื่องราว หลักการ และความทรงจำ
โดยภาพในงานนอกจากไฮไลต์มี 2 วงเสวนาแล้ว ยังมีกิจกรรมฉายหนังสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ สุสานดวงดาว และ ร่างอันตรธาน รวมถึงการแสดง Performance Art จากกลุ่มลานยิ้มการละคร อีกด้วย
บรรยากาศเวลา 16.30 น. เข้าสู่เสวนาช่วงที่ 2 ‘ครบรอบ 2 ปี พ.ร.บ.ทรมานฯ พัฒนาการ ปัญหา ข้อท้าทายและข้อเสนอแนะ’ โดย นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย, นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมการ พ.ร.บ., น.ส.แก้วกัญญา แซ่ลี ภรรยาของ พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต, น.ส.พรพิมล มุกขุนทด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย
ในตอนหนึ่ง นายสมชายกล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นตัวแทนมาพูดในฐานะกรรมการชุดนั้น ทั้งนี้ เพราะกรณีการส่งกลับชาวอุยกูร์ 40 คน ซึ่งคณะกรรมการชุดของตน ควรจะทำหน้าที่ ‘ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล’ ว่าการกักตัว ส่งกลับชาวอุยกูร์นั้น ชอบด้วยหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ไทยมีอยู่หรือไม่
“ผมรู้สึกอาย ที่คณะกรรมการฯ ไปนั่งแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหม และการให้เหตุผล ซึ่งดูแล้ว ไม่น่าจะรับฟังได้ในการส่งกลับทั้ง 40 คน เรื่องนี้ก็เป็นพันธกิจ ที่ต้องทำตามข้อตกลงระหว่างประเทศ” นายสมชายกล่าว
นายสมชายกล่าวต่อว่า ในฐานะรอง กมธ.วิสามัญ ในการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นี้ เราเองก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ที่ตนเคยเป็นประธาน ได้ผลักดันเรื่องนี้โดยใช้เวลา 15 ปี เพื่อให้มี พ.ร.บ.อุ้มหาย เกิดขึ้น เพื่อให้ไทยปฏิบัติตาม อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำตามอนุสัญญา
อย่างกรณีการส่งกลับ ชาวกัมพูชา กลับประเทศ ถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกละเมิด จากรัฐบาลกัมพูชา จะต้องให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวในศูนย์ฯ ซักถาม ได้มีโอกาสได้พบปะทนายความ ให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ เพื่อเป็นมาตรการให้เข้าไม่ต้องเจอกับการทรมาน เพื่อให้ได้คำรับสารภาพ แต่เราบอกอย่างนี้ไม่ได้ถ้าไทยไม่มีกฎหมายในประเทศ จึงจำเป็นที่ไทยต้องผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มหาย กระทั่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2566 ซึ่งเป็นเวลา 2 ปีแล้ว จึงจะสามารถพูดกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มปาก นอกจากชดใช้ค่าเสียหายแล้ว การช่วยเหลือด้านจิตใจและสืบสวนคดี เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษ ถือเป็นการเยียวยาที่ดีที่สุด
“2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีปัญหามาก กฎหมายโดยเนื้อหาแล้ว ค่อนข้างสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ บางเรื่องยังไปไม่ถึง เช่น อายุความ เป็นต้น”
“เราจัดทำ พ.ร.บ.อุ้มหาย ฉบับนี้ เพื่อทำทลายกรอบความคิดที่จำขังประชาชนทั้งประเทศ ที่ถูกครอบด้วยแนวคิด อำนาจนิยม กฎหมายจึงมีบทบัญญัติให้มีสิ่งใหม่ต่างๆ มากมาย เช่น ให้อัยการ ดูแลการสอบสวนหากมีการจับกุมคุมขังไม่ชอบ, ต้องให้ศาลไต่สวนได้ เช่นเดียวกับ กรณีอุยกูร์ เป็นต้น เพื่อให้ศาลได้ไต่สวน”
แต่เป็นที่น่าเสียดาย เรื่องเหล่านี้ผ่านไป 2 ปี ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในกระดาษ จะทำอย่างไรให้กระดาษมีผลในทางปฏิบัติ” นายสมชายชี้
นายสมชายกล่าวว่า นอกจากทำความเข้าใจ ยังต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ด้วย
“ทุกคน รวมถึงผู้เสียหาย ต้องไม่รีรอให้กฎหมายฉบับนี้ ยื่นคำร้ องใบแจ้งความ ติดตาม รณรงค์ต่อไป เราเชื่อว่าความหวังและความสำเร็จจะเกิดขึ้น” นายสมชายกล่าว
ด้าน นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ผู้ถูกบังคับสูญหาย กล่าวว่า 2 ปี ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังเงียบเฉย ไม่เข้าใจ เช่นนี้การลงมือทำตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ถึง 2 ปีก็ทำสำเร็จใน ‘กระบวนการเยียวยา’ แต่เกิดอะไรขึ้น ?
“สยามหายมา 5 ปี แล้ว ไม่ช่วยเราตามนะ แต่มาตามที่บ้านเรา มาหา เฝ้าดูว่าจะมา หรือจะอยู่ตอนไหน 5 ปีแม่ก็ไปขอความชัดเจนเรื่องการสาปสูญ มันแปลก ครอบครัวลำบากยากไร้ขนาดไหน ลูกเรียนจบรัฐศาสตร์ ม.ราม หวังจะช่วยประเทศทำนั่นนี่ แม่สยามธีรวุฒิ อ่านหนังสือไม่ออก จบ ป. 4 ต้องมาสู้กับเรื่องเหล่านี้หรือ
บอกว่าส่งแล้ว ยื่นแล้ว กำลังดูอยู่ ตอนนี้โทรศัพท์ก็ไร้สายแล้ว ไม่ได้ทำให้เกะกะ แต่ไม่มีความคืบหน้า” นางกัญญากล่าว
เมื่อถามถึงการดำเนินการด้วยตัวเอง ?
นางกัญญาเผยว่า ตนได้ยื่นอุทธรณ์ เพื่อที่จะได้ใบ ‘สาปสูญ’ แต่ก็ยังไม่ดำเนินการ ต้องรอต่อไป