โพยฮั้วส.ว. เดือด-อนุฯดีเอสไอ ชงเคาะคดีพิเศษ ส.ว.สำรองปูดหลักฐานชัด-วุฒิฯลุยถก ทวี วันนี้

“โพยฮั้วส.ว.” เดือด-อนุฯดีเอสไอ ชงเคาะคดีพิเศษ ส.ว.สำรองปูดหลักฐานชัด-วุฒิฯลุยถก “ทวี” วันนี้

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและผู้แทนหน่วยงาน เพื่อพิจารณาเรื่องสืบสวนที่ 151/2567 กรณีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา ที่มีกระบวนการหรือพฤติการณ์ที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ซึ่งมีพฤติการณ์อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และประมวลกฎหมายอาญา เป็นไปตามประกาศ กคพ.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ.มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ.2561 หรือไม่

ร.ต.อ.สุรวุฒิ แถลงผลประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมตามที่บอร์ด กคพ.ได้มอบหมายดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบในประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ จึงได้นำเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการวันนี้เพื่อช่วยพิจารณาให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยตามอำนาจหน้าที่กรรมการทุกคนได้เห็นเป็นเอกฉันท์ตรงกันว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 116 (ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ) มาตรา 77 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีลักษณะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ววรคหนึ่ง (ก)-(จ) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547

เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีต่อประชาชน ต้องนำเสนอต่อบอร์ดคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) วันที่ 6 มีนาคมนี้ เพื่อให้รับเป็นคดีพิเศษทั้ง 2 กรณี กรณีที่ 1 คือ กรณีการกระทำความผิดทางอาญาอื่นที่เกิดขึ้นจากการอั้งยี่ รวมทั้งการกระทำความผิดที่เป็นการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามมาตรา 77 (1) ส่วนกรณีที่ 2 คือ ความผิดฐานฟอกเงิน อยู่ในอำนาจของ กคพ.จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ที่ผ่านมามีทั้งเห็นต่างกันและเห็นร่วมกัน เนื่องจากการจะรับหรือไม่รับเป็นคดีพิเศษจะต้องใช้มติ 2 ใน 3 ของบอร์ด กคพ. คณะอนุกรรมการมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองเรื่อง

ADVERTISMENT

ที่รัฐสภา นายอัครวัฒน์ พงศ์ธนาชลิตกุล ตัวแทนกลุ่ม ส.ว.สำรอง ให้สัมภาษณ์ภายหลังยื่นเรื่องให้สอบจริยธรรมส.ว. กรณีระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุญาตให้ผู้สมัครส.ว.นำโพยเข้าไปในวันเลือกได้ว่า เรื่องนี้มีโพยหลุดออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ละกลุ่มที่ได้รับเอกสารมาก่อนเดินเข้าห้องเลือกที่เมืองทองธานี มีการเขียนไว้ที่ใบส.ว.3 และเขียนใส่กระดาษเพื่อให้ติดตัวไว้ และเมื่อตรวจสอบ และประกาศว่าห้ามเอาเอกสารเข้าหน่วยเลือกตั้ง ระหว่างนั้นมีผู้ตรวจการเลือกตั้งพบพฤติกรรมการอนุญาตให้นำโพยเข้าไปหน่วยเลือกตั้งได้

โดยกกต.บอกว่า ให้เอาเอกสารเข้าไปได้ ทำให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งสงสัยว่าถ้าปล่อยให้ขบวนการนี้เกิดขึ้น คงมีปัญหาเกิดขึ้นแน่ ทำให้ในคืนวันเลือกตั้งไปร้องต่อกกต. แต่ไม่เป็นผล จนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ผู้ตรวจการเลือกตั้งจึงไปแจ้งความต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่กกต.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องโพย กลับกลายเป็นว่าคณะกรรมการเป็นลูกน้องของผู้ที่ถูกร้องคือ นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. แต่งตั้งลูกน้องขึ้นมาตรวจสอบตัวเอง จึงเป็นไปได้ยากจะได้รับความเป็นธรรม อย่างไรก็ตามผู้ร้องได้ให้ปากคำต่อดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 4 มีนาคมนี้ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา มีวาระพิจารณา การเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เสนอโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ส.ว.กลุ่มกฎหมาย และคณะ

ทั้งนี้ สาระของญัตติที่เสนอดังกล่าวระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และให้รัฐมีมาตรฐานคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซง หรือครอบงำ แต่ที่ผ่านมาพบว่ากระบวนการยุติธรรมไทยขาดประสิทธิภาพและมีการแทรกแซง ครอบงำจากฝ่ายการเมือง

โดยเฉพาะการดำเนินคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพทำคดีล่าช้า ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษอย่างแท้จริง รวมถึงไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

การดำเนินการกระบวนการยุติธรรมยังเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีการให้สิทธิแก่ผู้ต้องขังที่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image