วุฒิสภา ยัน หากดีเอสไอ รับคดีฮั้วเลือก ส.ว. ส่อเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ย้ำไม่มีอำนาจรับคดีเลือกตั้งไว้พิจารณา “ฉัตรวรรษ” ลั่นส่งข้อเสนอแนะให้ครม. -เปิดซักฟอก ทวี ผิดจริยธรรมร้ายแรง พร้อมยื่นถอดถอน-เอาผิด “อธิบดีดีเอสไอ” ทุจริตต่อหน้าที่
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมวุฒิสภา วาระการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ที่เสนอโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
โดย ส.ว.ส่วนใหญ่ มาประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ผู้อภิปรายส่วนใหญ่ตั้งคำถามอย่างดุเดือด พุ่งเป้าไปที่กรณีสิทธิผู้ต้องขัง เชื่อมโยงไปยังชั้น 14 รวมถึงการที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอส) ตรวจสอบเรื่องการฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา ปี 2567
จากนั้นเวลา 12.30 น. หลังจากที่ ส.ว.อภิปรายสนับสนุนญัตติครบถ้วนแล้ว พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร ส.ว. อภิปรายปิดญัตติ กล่าวสรุปว่า การอภิปรายของ ส.ว. ทำให้เห็นว่า รมว.ยุติธรรม และอธิบดีดีเอสไอ งานควรทำไม่ทำ กลับไปทำในสิ่งที่ไม่มีอำนาจ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) เตรียมพิจารณาคดีการฮั้วเลือก ส.ว. เป็นคดีพิเศษนั้น มีข้อโต้แย้งว่าการพิจารณาดังกล่าวเข้าข่ายก้าวก่ายอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกทั้งไม่มีหลักฐานเพียงพอ ทั้งเส้นทางการเงิน โพย ไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดว่าทุจริตเลือก จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับเรื่องไว้เป็นคดีพิเศษ
“การดำเนินการก้าวก่ายเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่บุคคลใดจะใช้สิทธิล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น การสอบสวนคดีฮั้ว เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่ของดีเอสไอ ซึ่งการที่ดีเอสไอจะสอบสวนฮั้วเลือกตั้ง ส.ว. เป็นการกระทำนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ เมื่อพิจารณาแล้วหากดีเอสไอจะรับคดีฮั้ว ส.ว.เป็นคดีพิเศษต้องพิจารณาตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ คือคดีอาญาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 21 และเมื่อพิจารณาแล้วคดีเลือกตั้งไม่ใช่คดีที่กำหนดไว้ในอำนาจของดีเอสไอ” พล.ต.ต.ฉัตรวรรษอภิปราย
“จากการอภิปรายของ ส.ว. แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมขาดประสิทธิภาพ ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมือง ผมขอความเห็นจากที่ประชุมส่งข้อสังเกตจากการอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หรืออาจจะขอเปิดอภิปรายทั่วไป พ.ต.อ.ทวี กรณีผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางกาเมืองอย่างร้ายแรง และยื่นถอดถอนต่อไป รวมถึงพิจารณาการทำหน้าที่ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ฐานทุจริตต่อหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
จากนั้น นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ฐานะประธานในที่ประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้สำนักงานเลขาธิการส่งข้อเสนอแนะให้ ครม.พิจารณาต่อไป และการพิจารณาญัตติดังกล่าวเห็นว่าสำคัญและเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จึงมอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมและเสนอผลการศึกษาให้ ส.ว.พิจารณาต่อไป