“เท้ง” แย้ง 3 ปม – ยันมีชื่อทักษิณในญัตติได้ “ประธานวันนอร์” ปัดรับงาน-ย้ำยึดกติกา

“เท้ง” แย้ง 3 ปม – ยันมีชื่อทักษิณในญัตติได้ “ประธานวันนอร์” ปัดรับงาน-ย้ำยึดกติกา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อโต้แย้งหนังสือให้แก้ไขข้อบกพร่องญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และขอให้บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเข้า การประชุมสภาผู้แทนเร็วที่สุด โดยให้เหตุผล 3 ข้อดังนี้

1.ประธานสภาจะวินิจฉัยว่าเนื้อหาของญัตติดังกล่าวสมควรมีเนื้อหาอย่างไรมิได้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ให้อำนาจประธานสภาใช้ดุลพินิจวินิจฉัย ว่าเนื้อหาสมควรเป็นประการใด สมควรจะได้รับการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะหรือไม่ หากแต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดอำนาจผูกพันการใช้อำนาจของประธานสภา เปิดให้อภิปรายทั่วไปเพื่อลงญัตติไม่ไว้วางใจเท่านั้น

โดยประสงค์ให้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยถึงเนื้อหา หรือมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะบรรจุวาระ รัฐธรรมนูญต้องบัญญัติถ้อยคำ ที่แสดงถึงอำนาจที่ใช้ดุลพินิจดังกล่าวอย่างชัดเจน ดังนั้น ประธานสภาใช้อำนาจโดยอ้างข้อบังคับการประชุมตีความในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่ลุแก่อำนาจ ที่รัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงและทำลายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมตรวจสอบการบริหารแผ่นดินของฝ่ายบริหาร
ยกข้อบังคับไม่ห้ามใส่ชื่อคนนอก

ADVERTISMENT

2.ข้อบังคับการประชุมสภาไม่ได้ห้ามให้ระบุชื่อบุคคลภายนอกในเนื้อหาญัตติ ดังนั้น การระบุชื่อบุคคลภายนอกในญัตติของฝ่ายค้านที่ผ่านมา จึงไม่เป็นการกระทำผิดหรือฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมสภาแต่อย่างใด ซึ่งในอดีตญัตติที่เสนอต่อประธานสภาหลายเรื่องก็มีการระบุชื่อของบุคคลภายนอก ซึ่งหากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีหรือ ส.ส. ได้รับความเสียหายจากการอภิปราย หรือการกล่าวถ้อยคำในที่ประชุมสภา บุคคลนั้นมีสิทธิร้องขอต่อประธานสภาภายในเวลาสามเดือน นับแต่วันที่มีการประชุมเพื่อให้มีการโฆษณาคำชี้แจงได้ ตามข้อ 39 ของข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญมาตรา 124 วรรค 3

ดังนั้น หากวิเคราะห์ตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุม และรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าไม่ได้ห้ามการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลอื่น หรือบุคคลภายนอก ตรงกันข้ามยังตีความเจตนาได้ว่าการอภิปรายถึงบุคคลอื่นสามารถกระทำได้ เพียงแต่ ส.ส.ผู้อภิปรายนั้นจะต้องรับผิดชอบผลแห่งการกระทำเอง และประธานสภาจัดให้มีการโฆษณาชี้แจงตามที่บุคคลนั้นร้องขอ ตามวิธีการและระยะเวลาภายในกำหนด

ADVERTISMENT

3.ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 136 กำหนด ให้ประธานสภา เมื่อได้รับญัตติดังกล่าวแล้วให้ทำการตรวจสอบหากมีข้อบกพร่อง ให้แจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับญัตติซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 7 มีนาคม 2568 แจ้งถึงผลการพิจารณาญัตติของประธานสภา เห็นได้ว่าการแจ้งข้อบกพร่องดังกล่าวไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นการแจ้งข้อบกพร่องที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภา เพราะประธานสภาได้รับญัตติของฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 แต่กลับมีหนังสือแจ้งข้อบกพร่องเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ซึ่งพ้นระยะเวลา 7 วัน

ตามที่ข้อบังคับการประชุมสภากำหนด ฝ่ายค้านจึงยืนยันว่าการขอเปิดอภิปรายไว้วางใจครั้งนี้ ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมสภาละรัฐธรรมนูญทุกประการ จึงขอให้ประธานสภาได้พิจารณาบรรจุญัตติดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ฝ่ายค้านยังได้ส่งสำเนาญัตติตัวอย่างญัตติในอดีต เพื่อเป็นการยืนยันว่าสภาเคยมีการพิจารณาและอภิปรายเกี่ยวข้องถึงบุคคลภายนอกได้ ประกอบหนังสือโต้แย้งดังกล่าวด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์หลังให้ฝ่ายค้านตัดชื่อบุคคลภายนอกออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่ได้มีอคติกับใครหรือรับงานใครมา ทำไม่ได้ ที่ผ่านมาก็รู้อยู่แล้วว่าบางครั้งฝ่ายค้านก็หาว่าตนเข้ากับฝ่ายรัฐบาล และบ่อยครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าตนเข้ากับฝ่ายค้าน ยืนยันว่าแค่รักษากติกาข้อบังคับการอภิปรายถึงบุคคลภายนอกที่ไม่สามารถเข้ามาชี้แจงในสภาได้ เขาห้ามไว้

การเขียนในญัตติเลยนั้นถือว่าหนักกว่าการพูด เป็น ส.ส.มา 40 กว่าปี ไม่เคยมีญัตติเขียนชื่อคนนอกไว้ ไม่เช่นนั้นสภา จะไม่เป็นสภา หากเอ่ยชื่อใครก็ได้ จะอภิปรายนายกฯ หรือรัฐมนตรีก็ว่าไป หากชื่อคนนอกไม่อยู่ในญัตติจะอภิปรายอะไรก็อภิปรายไป ถ้าเขาเสียหายก็จะฟ้องคนพูด แต่ถ้าบรรจุในญัตติหากมีการฟ้อง จะฟ้องประธานสภาให้บรรจุระเบียบวาระ ประเด็นเรื่องอำนาจการบรรจุระเบียบวาระ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้วว่าประธานรัฐสภา มีหน้าที่บรรจุระเบียบวาระและควบคุมการบริหารงานสภา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในสมัยปี 2545 ที่นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็เคยให้นายชวน หลีกภัย ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น ไปแก้ญัตติ นายชวนก็รับไปแก้ไขทั้งที่ไม่เห็นด้วย ตอนนั้นไม่ใช่เรื่องการบรรจุชื่อคนนอกมาไว้ในญัตติ โดยคำชี้แจงบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ แต่เพื่อความร่วมมือที่ดีก็ยอมแก้

“เราอยากเห็นการอภิปราย ไม่ใช่การประท้วง ผมก็ดำเนินการตามนั้น เพราะประธานสภามีหน้าที่ดูแลการประชุมอันไหนที่จะเกิดปัญหา ประธานสภาต้องไม่ให้เกิดขึ้น” นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image