‘บิ๊กกน’ปัดสอดไส้กม.ปิโตรเลียมฯ ตั้งบรรษัทน้ำมัน พร้อมแจงสนช. ‘ครูหยุย’เชื่อ100ปีก็ไม่เกิด

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเรียก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฉบับที่… พ.ศ. … มาชี้แจงประเด็นการเสนอเพิ่มเนื้อหามาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.ปิโตร เลียม ที่ถูก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี คัดค้านอย่างหนัก โดยระบุเป็นการสอดไส้แก้ไขเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ นายพรเพชรขอให้ที่ประชุมวิปมีการประชุมลับในเรื่องดังกล่าว โดยเชิญเจ้าหน้าที่ออกจากห้องประชุม เหลือเฉพาะสมาชิก สนช.เท่านั้น ซึ่ง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ วิป สนช. ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้แจงยืนยันต่อที่ประชุมวิป สนช.ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้สอดไส้หรือลักไก่เพิ่มเติมเนื้อหามาตรา 10/1 แต่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง มีการขอความเห็นชอบจาก ครม. ในการขอแก้ไขหลักการของกฎหมาย และได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว

พล.อ.สกนธ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการพลังงานในอนาคต อีกทั้งการจัดตั้งบรรษัทดังกล่าวไม่มีการกำหนดระยะเวลาตายตัวว่าจะต้องจัดตั้งให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด คนที่ออกมาคัดค้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนด้านพลังงานและคนที่เสียผลประโยชน์ หลังจากที่วิป สนช.ได้รับฟังคำชี้แจงจาก กมธ.แล้ว ก็มีความเข้าใจหลักการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และจะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ขอให้ กมธ.ทุกคนช่วยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในประเด็นที่เป็นปัญหาให้สมาชิก สนช.เข้าใจ

ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ วิป สนช.กล่าวว่า เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมตามที่ กมธ.แก้ไขมาถือว่าเขียนมาได้ดี จึงถูกวิจารณ์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ฝ่ายเอ็นจีโอมองว่า ยื้อเวลาเพราะไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า เป็นการลักไก่ตั้งบรรษัทดังกล่าว ทั้งที่ กมธ.พยายามประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ส่วนตัวมองว่า การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในกฎหมายใช้คำว่าให้จัดตั้งเมื่อมีความพร้อม ซึ่งนิยามคำว่ามีความพร้อมมีความหมายกว้างมากว่า อะไรคือมีความพร้อม ดังนั้น คงเกิดขึ้นได้ยากกว่าการตั้งโรงไฟฟ้าเสียอีก เชื่อว่า 100 ปีก็จัดตั้งไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image