รศ.ดร. ดุลยภาค แนะ นายกฯ ควรเว้นระยะ-ท่าทีการทูตกับ ‘มิน อ่อง ลาย’ ในวันประชุม BIMSTEC ระหว่าง 2-4 เม.ย. นี้ หากเกิดภาพใกล้ชิด-ส่วนตัว อาจถูกตีความว่ายอมรับผู้นำทหารเมียนมา ชี้ควรใช้โอกาสนี้ฟื้นนโยบาย Look West Policy ร่วมกับ ‘อินเดีย’ อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 2 เมษายน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าจับตาในการประชุมสุดยอดผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย.2568 ณ กรุงเทพมหานคร (กทม.) คือการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงและเรียกร้องการยอมรับสถานะของตนเอง (Recognize) ผ่านเวทีประชาคมระหว่างประเทศ ก่อนที่เมียนมาจะเปิดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้
“แม้การประชุม BIMSTEC ซึ่งมีสมาชิก 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย จะมีเป้าหมายเพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อกับอ่าวเบงกอล แต่สิ่งที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการเว้นระยะและท่าทีทางการทูตต่อ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เพราะหากปรากฏภาพว่านายกรัฐมนตรีไทยไปพบปะพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ในลักษณะที่ใกล้ชิดและดูเป็นการส่วนตัว จะทำให้นานาประเทศตีความว่า นายกรัฐมนตรีไทยให้ความสำคัญและยอมรับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาคนนี้เป็นพิเศษ
ในการนี้ การพบปะโดยรวมร่วมกับผู้นำชาติอื่นๆ หรือการถ่ายรูปกับมิน อ่อง ลาย โดยแสดงความห่วงใยต่อการจัดการภัยพิบัติในเมียนมา หรือแสดงความขอบคุณต่อกรณีการปล่อยลูกเรือประมงไทย เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ต้องระมัดระวังไม่ควรแสดงออกถึงสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งในเมียนมาที่ชัดเจนจนเกินไป นอกจากนั้น หากมิน อ่อง ลาย มาร่วมประชุมแบบออนไลน์ ก็ถือเป็นการดีที่จะลดเรื่องฉากการพบปะที่อาจมีบางมุมที่สื่อนานาชาติอาจตีความหรือเข้าใจได้ว่ารัฐบาลไทยอาจให้การหนุนรัฐบาลทหารเมียนมา” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว
รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวอีกว่า หากเกิดภาพความใกล้ชิดระหว่างผู้นำ 2 ประเทศเป็นพิเศษ ข้อดีคือจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำต่อผู้นำไทย-เมียนมา มีความชื่นมื่น ทว่าในทางกลับกันปัจจุบันยังมีหลายประเทศที่วางตัวเป็นศัตรูหรือเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพทหารเมียนมา ซึ่งก็คงไม่พอใจบทบาทของไทยแน่ เขาจะมองว่าไทยให้ท้าย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย มากจนเกินไป
“ช่วงที่ผ่านมาได้มีจดหมายประท้วงจากองค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เป็นจำนวนหลายร้อยองค์กรว่าไม่อยากให้รัฐบาลไทยต้อนรับการมาเยือนของผู้นำทหารรายนี้ ฉะนั้นโจทย์ของไทยในวันนี้คือจะต้อนรับเขาอย่างไรโดยไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากจนเกินไป” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว
รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า โอกาสของรัฐบาลไทยจากการประชุม BIMSTEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ คือการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในฐานะการเป็นผู้เชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และเอเชียใต้ ผ่านการวางตัวเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา และเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่จะนำนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก (Look West Policy) กลับมาอีกครั้ง
“ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร เคยมีการวิเคราะห์ถึงการมาบรรจบกันของสองนโยบายจากสองประเทศ คือนโยบายมองไปทางตะวันออกของอินเดีย (Look East Policy) กับนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกของไทย (Look West Policy) ซึ่งเป็นแผนการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ ในช่วงของนายทักษิณ ที่มุ่งไปสู่การเจาะตลาดในบริเวณเอเชียใต้ผ่านประเทศเมียนมา เราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการนำนโยบายนี้กลับมา” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว
รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวต่อไปว่า นโยบายมุ่งสู่ตะวันตกจะมาบรรจบกันได้กับนโยบายมุ่งสู่ตะวันออกของอินเดียที่ต้องการเจาะตลาดของไทยและอาเซียนผ่านเมียนมาเช่นกัน และตอนนี้ทางอินเดียได้มีการปรับคำศัพท์ทางนโยบายจาก Look East Policy มาเป็นนโยบายปฏิบัติการตะวันออก (Act East Policy) จากที่เคยแค่มอง มาเป็นการปฏิบัติการอย่างจริงจัง ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายปฏิบัติการตะวันตก (Act West Policy) เพราะที่ผ่านมาก็มีแค่ Look West แล้วก็เงียบหายไปนานหลายปี
“มาวันนี้ จึงควรจะใช้เวที BIMSTEC ในการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์กับอินเดีย เราต้องมี Act West Policy ด้วย ที่จะมุ่งยุทธศาสตร์ในด้านนี้ให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ประเทศอินเดียภายใต้การนำของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งว่าต้องการที่จะเข้ามาจัดการกับการพัฒนาด้านสันติภาพในประเทศเมียนมา รัฐบาลไทยจึงควรที่จะเจรจาเรื่อง Act West Policy ไปพร้อมๆ กับการแสดงบทบาทเป็นผู้เชื่อมต่อการดำเนินงานด้านสันติภาพในเมียนมาด้วย” รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว