กมธ.ป.ป.ช. จ่อเชิญ ‘ผู้ว่าการสตง.-ปลัดก.อุตฯ-สภาวิศว’ แจงก่อสร้างตึก สตง.ถล่ม 10 เม.ย.นี้ ชี้สังคมกังขา สตง.เป็นหน่วยงานตรวจสอบ แต่เหตุใดถล่มตึกเดียว
เมื่อวันที่ 3 เมษายน เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ. ป.ป.ช.) โดย นายฉลาด ขามช่วง ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ป.ป.ช. และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ. ป.ป.ช. ได้แถลงถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา จนเกิดเหตุอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม
นายฉลาดกล่าวว่า จากที่มีข่าวที่ทำให้ประชาชนตกอกตกใจ โดยเฉพาะอาคารสูงตระหง่านซึ่งเจ้าของอาคารคือ สตง. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น ได้พังทลาย และเป็นตึกเดียวในกรุงเทพมหานคร โครงสร้างพื้นฐานมีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง วันนี้ กมธ.จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อจะมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง 2 เรื่อง คือเหตุที่ตึกถล่ม และเรื่องเหล็กซึ่งอยู่ภายในอาคาร และกระจายไปทั่วประเทศไทยทุกตารางนิ้ว เป็นที่หวาดหวั่นของพี่น้องประชาชน วันนี้จึงรับเรื่องเพื่อจะสอบสวนต่อไปเพื่อสร้างความกระจ่างความโปร่งใสให้กับพี่น้องทั้งประเทศ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ
ด้านนายธีรัจชัยกล่าวว่า สืบเนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนนั้นทำให้ประเทศไทยพื้นที่ 63 จังหวัด เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ตึกสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ สูง 30 ชั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา คนงานเสียชีวิตหลายราย และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการขอความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยซึ่งยังติดอยู่ในอาคารอีกหลายราย ซึ่งตนหวังว่าคงมีข่าวดีผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นในเร็ววันนี้ อาคารดังกล่าวได้รับการอนุมัติการก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี ด้วยงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ในปี 2563 และมีกำหนดสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ใช้เวลาก่อสร้างเกินกำหนดมาแล้วปีกว่า และยังเป็นอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ สตง. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ของประเทศไทยอีกด้วย จึงทำให้เกิดคำถามอย่างกว้างขวางในสังคมไทยว่าเหตุใดอาคารที่ใช้งบประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ที่ดำเนินการจัดจ้างโดย สตง. จึงไม่สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวนี้ได้ ทั้งที่อาคารสูงที่ทิ้งร้างหรืออาคารสูงที่สร้างมานานอาคารอื่นๆ ยังตั้งอยู่ได้ตามปกติ
ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่าอาคารดังกล่าวสร้างโดยกลุ่มทุนจากประเทศจีน ที่เข้ามาทำกิจการร่วมค้ากับกลุ่มทุนของไทย จนเกิดคำถามถึงคุณภาพของการก่อสร้างจากกลุ่มทุนต่างประเทศ ซึ่งล่าสุด 1 เมษายนที่ผ่านมา เวลา 23.15 น. สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย โพสต์ข้อความ เรียกร้องบริษัทจีนที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือกับกระบวนการสอบสวนของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่
กมธ.ป.ป.ช. จึงมีความเห็นว่ามีความจำเป็นในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการควบคู่กับฝ่ายบริหารในการตรวจสอบ สตง. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมโปร่งใส และวันที่ 10 เมษายนนี้ กมธ.จะเชิญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาชี้แจงว่ามีความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิตอย่างไร มีการกำกับดูแลอย่างไร และใครจะเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบต่องบประมาณมหาศาล และจะเชิญเลขาธิการสภาวิศวกรมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเทคโนโลยีในการก่อสร้างและสาเหตุของอาคารถล่ม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะประชาชนเกิดข้อสงสัย เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ของ สตง.ถูกต้องหรือไม่ เหตุใดจึงถล่มเพียงตึกเดียว การตรวจรับงานในแต่ละงวด เป็นอย่างไร ความทนทานของแบบก่อสร้างเป็นอย่างไร และวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กที่ใช้เป็นเหล็กที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบ 6 ตัวอย่างเหล็กในโครงการนั้น และพบ 2 ประเภท ที่อาจจะมีปัญหาในบางยี่ห้อ เราก็อยากทราบว่าเป็นอย่างไร และเหล็กเหล่านั้นไปอยู่ในโครงสร้างตึกใดบ้าง กระบวนการควบคุมใครเป็นคนรับผิดชอบ และเหล็กเป็นเหล็กจากโรงงานของใคร ตนได้ทราบจากนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.จังหวัดระยอง พรรคประชาชน ว่า เพราะมีคนไทยในโรงงานนั้นประมาณ 9.4% เท่านั้นเอง ที่ไปตรวจสอบและไม่ได้เข้าไป
ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การตรวจสอบหาข้อเท็จจริง การตรวจสอบทั้งหมดจะนำมาเป็นบทเรียนเป็นมาตรฐานและข้อเสนอในการควบคุมการก่อสร้างภาครัฐต่อไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก