“อภิสิทธิ์” ไม่เห็นด้วย ให้ ปตท.จัดการทุกอย่าง ยันบรรษัทน้ำมันฯตั้งได้ แต่ต้องชัดเจน

“อภิสิทธิ์” ค้านให้ปตท.จัดการทุกอย่าง ชี้ตั้งบรรษัทไม่ขัดหลักการกม.แต่ต้องชัดเจน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพิ่มประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเอาไว้ในบทเฉพาะกาลที่ 10/1 ว่า ควรเพิ่มเนื้อหาให้ชัดว่าต้องมีองค์กรขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการสิ่งต่างๆเหล่านี้ว่าจะเกิดขึ้นภายในเมื่อไร ให้ทันกับการเปิดทางเลือกให้ประเทศ โดยอาจไม่ต้องเขียนรายละเอียดทั้งหมดเพราะอาจทำให้กฎหมายล่าช้า แต่เขียนให้มีกรอบเวลา หลักการให้ชัดว่าอำนาจขอบเขตขององค์กรที่จะทำงานในแต่ละด้านควรกำหนดอย่างไร วันนี้เราสุดโต่งทางใดทางหนึ่งไม่ได้ อยากให้รัฐบาลจริงจังเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน ปัญหาในขณะนี้คือเวลาคืนสัมปทานต้องมีองค์กรมาทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้คืนมา ในกรณีที่ต้องแบ่งปันผลผลิตก็จำเป็นต้องมีอีกองค์กรหนึ่งขึ้นมา ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าปตท.สามารถทำทุกอย่างได้ก็มีปัญหาในเรื่องการผูกขาด เช่นท่อก๊าซที่ต้องแยกออกมาให้มีการดูแลต่างหาก เพราะปตท.ไม่ได้ถือหุ้นโดยรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ทำงานเหมือนธุรกิจ แม้แต่การเอาสื่อมวลชนไปดูงานต่างประเทศเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กร ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะซึ่งหมิ่นเหม่มากต่อเรื่องจรรยาบรรณทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจและสื่อมวลชนเอง สิ่งเหล่านี้ต้องแก้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับของสนช.วันที่ 30 มีนาคม ทางกรรมาธิการฯมีสิทธิที่จะรับกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่แล้วเป็นกระบวนการของสภา เพราะหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือต้องการแก้กฎหมายเดิมเพื่อเปิดทางไปสู่ระบบอื่นที่ไม่ใช่สัมปทาน การที่ต้องมีองค์กรมารองรับทางเลือกใหม่นั้นตนไม่เห็นว่าเป็นการขัดหลักการ แต่ความเหมาะสมว่าจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้หรือมีอีกฉบับหนึ่งก็สามารถพิจารณาได้ แต่ควรมีความชัดเจนไม่ใช่เขียนไปแล้วสุ่มเสี่ยงทั้งสองทางคือ ทางหนึ่งไม่เกิดเลย แล้วทางเลือกเกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิตต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดเลย หรือเขียนลอยเกินไปอาจนำไปสู่การสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีปัญหาในประเทศอื่น ซึ่งกลุ่มทุนเอามาอ้างอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ดี การที่เขาไปบัญญัติให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงไม่ได้ฝืนหลักการหรือไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่ถ้าเห็นว่ากฎหมายจัดตั้งองค์กรไม่ควรจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ก็เขียนให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยออกกฎหมายภายในระยะเวลาเท่าไหร่ แล้วเขียนกรอบกว้าง ๆ ไว้ ซึ่งไม่คิดว่าขัดหลักการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image