เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
เมื่อวันที่ 9 เมษายน เวลา 14.30 น. อาคารรัฐสภา น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้แทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว เรียกร้องความจริงใจจากรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ตลอดจนฝากคำถามถึงรัฐบาลว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ฉบับรัฐบาล จะเสนอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใด
โดยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝ่ายรัฐบาลได้เสนอญัตติขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมและลงมติให้เลื่อนร่างกฎหมายที่สำคัญสองฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนหมดสมัยการประชุมในวันที่ 9 เมษายน 2568 ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. … และ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมฉบับอื่น ๆ ด้วย แต่เมื่อวันที่ 8 เมษายน2568 นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงชัดเจนแล้วถึงการเลื่อนระเบียบวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรออกไปก่อน เพื่อให้รัฐบาลได้มีเวลาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนจนกว่าจะทำความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันจึงจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนต้องเลื่อนไปด้วย แต่ก็ยังบรรจุอยู่ในระเบียบวาระเรื่องด่วน
สำหรับประชาชนที่ได้รับการดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งหมดจำนวน 48 คดี ซึ่งบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในเรือนจำทั้งหมด ซึ่งมีคดีเกี่ยวกับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยจำนวน 31 คดี ซึ่งไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว สำหรับผู้ต้องหาคดีดังกล่าวมีนักวิชาการชาวต่างชาติ ได้รับการดำเนินคดีด้วย เมื่อเดือนที่ผ่านมารัฐสภายุโรปได้มีมติให้ประเทศไทย ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองเพื่อเป็นกลไกการเจรจา FTA ในการต่อรองเพื่อให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชน ในประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีผลทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย