จุลพันธ์ แจงละเอียด เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ย้ำต้องเดินหน้า เป็นโอกาสที่ไม่ควรจะรอ
หมายเหตุ : สัมภาษณ์พิเศษ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์
การเลื่อน พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เนื่องจากสถานการณ์ต่างประเทศอย่างการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทย จากสหรัฐกว่า 36% ทำให้บรรยากาศของสังคมมีความห่วงใยหลายประเด็นในจังหวะเวลาช่วง 10 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก การเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาตอนนี้มีความเป็นห่วงเรื่องผู้ที่จะยังมีการรอดชีวิตอยู่หรือไม่ การเคลียร์ซากปรักหักพังที่ยังคงอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) การตรวจสภาพตึกต่างๆ รวมถึงมีมาตรการในการเยียวยา ซึ่งตอนนี้มีข้อเสนอเข้ามาที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วว่าจะมีปรับเกณฑ์บางอย่าง เพราะตัวเลขที่จะช่วยเหลือเดิมเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างล่าช้าไปแล้ว อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนซึ่งต้องใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังมีภารกิจต้องทำต่อ
พอเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นผ่านมาแล้ว มองว่าสถานการณ์เริ่มสงบลง กลับมีเรื่องการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐกับไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้กระทบกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นทั้งโลก หากถามว่าทางกระทรวงการคลังรวมถึงทางรัฐบาลเซอร์ไพรส์หรือไม่ ไม่ได้ถึงขั้นเซอร์ไพรส์ขนาดนั้น แต่แปลกใจในกระบวนการคำนวณสูตรการเก็บภาษี ทำให้แม้รัฐบาลได้เตรียมการมานาน นายกรัฐมนตรีมีการตั้งคณะทำงานตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการพูดคุยประชุมกันมาหลายครั้งแล้ว แต่เรื่องสูตรการคำนวณของสหรัฐ ก็เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ก่อน ทุกคนทุกประเทศก็เซอร์ไพรส์ เมื่อผลออกมาแล้วเราก็ต้องหามาตรการรองรับ ก็มีการเตรียมตั้งคณะทำงาน คณะเจรจานำโดยท่านพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นคนนำคณะเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐ กระบวนการตรงนี้ต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่ถามว่าเร่งเท่าใด มันต้องอยู่บนความรอบคอบด้วย เพราะเราเห็นตัวอย่างมาแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีมาตรการในการรับมือแบบเรียกว่าเทหมดหน้าตักแล้ว แต่สุดท้ายคำตอบที่ได้รับจากสหรัฐคือยังไม่เพียงพอ เพราะมันมีโจทย์มากมาย
เรื่องของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เรายืนยันว่าไม่เท่ากับกาสิโน แต่คือการลงทุนขนาดใหญ่ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทย เปลี่ยนโฉมภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีการพึ่งพาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติมาอย่างยาวนาน เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เราพยายามเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละปีอีกจำนวนมากๆ มีความยากขึ้นทุกที โดยรัฐบาลตั้งแต่ สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน ได้ใช้กลไกวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยว ถือว่าได้ผล นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เราจะทำได้อีกกี่ประเทศ เราจะทำได้อีกกี่ครั้ง แล้วสุดท้ายก็จะถึงจุดๆ หนึ่งที่เริ่มอิ่มตัว เพราะฉะนั้นเรามีความจำเป็นจะต้องสร้าง Growth Driver หรือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จึงตอบโจทย์นี้สำหรับรัฐบาล เพราะติดหล่มการเติบโตที่ตกต่ำในช่วง 10 ปีท้าย เศรษฐกิจำทยโตแค่ 2% เป็นตัวเลขที่เชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าไม่เพียงพอ และมันไม่ตอบโจทย์กับประเทศไทยที่กำลังพัฒนา มีประชากรจำนวนนี้ มีศักยภาพถึงเพียงนี้ เราจะทำยังไง ส่วนนี้จึงเป็น 1 ในโจทย์ที่รัฐบาลมองว่า จะเข้ามาพลิกโฉม มาเปลี่ยนในเรื่องของเศรษฐกิจของประเทศไทย
ปรากฏว่าไทม์ไลน์ในจังหวะเวลาเข้ามาพร้อมกันทั้งเรื่องแผ่นดินไหวทั้งเรื่องของการปรับขึ้นภาษีจากสหรัฐ เราก็ต้องเรียงลำดับความสำคัญ ว่าอะไรที่เร่งด่วน หรือไม่เร่งด่วน สุดท้ายนายกรัฐมนตรีก็ได้เชิญทางหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปพูดคุยกัน ซึ่งทุกพรรคการเมืองยืนยันว่า พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐ ซึ่งเราได้แถลงต่อรัฐสภาแล้ว มีความเชื่อมั่นว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ แต่เมื่อมีประเด็นในเรื่องของจังหวะเวลา จึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นสมัยประชุมหน้า เพื่อให้มีเวลาในการทำความเข้าใจกับสังคม เพื่อให้ทุกคนได้ไปพูดคุยกับพรรคการเมืองตัวเอง รวมถึง
ตอนนี้ต้องยอมรับว่า มันมีการพูดคุยกันในสังคม และมีความสับสน บางคนเอาเรื่องนี้ไปเรียกว่าเป็นกาสิโน ซึ่งไม่ใช่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เป็นสถานบันเทิงครบวงจร เป็นการพัฒนารูปแบบใหม่ และเป็นโมเดลธุรกิจที่ต่างประเทศก็ใช้ อาทิ ญี่ปุ่นเริ่มแล้ว ดูไบก็เริ่มแล้ว รวมถึงจะมีเวลาที่รัฐบาลสามารถสื่อสารกับประชาชนเพิ่มขึ้นให้เห็นภาพจับต้องได้ เห็นได้จริง เพื่อให้สามารถดำเนินการในจุดนี้ได้ พี่น้องประชาชนจะได้นึกภาพออกมากขึ้น เพราะหลายคนก็อาจไม่เคยเห็น ไม่เคยไปสัมผัส หรือเคยเห็นอยู่แถวชายแดนประเทศไทย ซึ่งเป็นคนละเรื่องนะกัน ไม่ใช่โมเดลที่รัฐบาลจะนำมาใช้
เราไม่ได้จะเปลี่ยนใจใคร แต่หากมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาก็พร้อมจะเชิญให้เข้ามาหารือร่วมกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังให้มากขึ้น นำเหตุและผลมากางบนโต๊ะ แล้วดูว่าจะสามารถถอยคนละก้าวได้หรือไม่ เพื่อกฎหมายพอออกมาแล้ว ทุกคนจะอยู่ในจุดที่พอจะรับได้ แล้วเดินหน้าต่อไป
กระแสสังคมไม่ได้เป็นส่วนหลักที่ทำให้รัฐบาลต้องมีการเลื่อนออกไปก่อน แต่เป็นเรื่องสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนทั้งแผ่นดินไหว และการขึ้นภาษีของทรัมป์ แม้ตอนการประชุมจะมีคำถามว่า ทำไมถึงนำเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มาตัดหน้าเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าเป็นแค่การขอเลื่อนระเบียบวาระใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น แต่พอมีการโต้เถียงกัน ก็กินเวลาไป 3 ชั่วโมงเศษ จากนั้นเมื่อกระบวนการเลื่อนระเบียบวาระเสร็จ ทุกคนก็เห็นว่าสุดท้ายเรากลับไปคุยกันเรื่องของแผ่นดินไหวจริงๆ แล้วมันก็จบกระบวนการไป
เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ผูกโยงกับการรับมือมาตรการทางภาษีของรัฐบาล เพราะไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่ถามว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องถามตัวเองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลก็ยอมรับมาตลอดตั้งแต่วันที่เข้ามาทำงาน เราอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจมันอยู่ในจุดที่ค่อนข้างวิกฤต ก็พยายามที่จะปรับแก้ตั้งแต่การเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เรียนตรงๆ ว่าเหนื่อย เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ประกอบกับงบประมาณที่ล่าช้า การอยู่กระทรวงการคลังจึงค่อนข้างเครียด แต่เราใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในนการขับเคลื่อนหลายอย่าง ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 โตมาเป็น 2.3% ไตรมาสที่ 3 โต 3% และไตรมาสสุดท้าย 2567 ปิดที่ 3.2 หมายความว่าเราอยู่ในขาขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจไตรมาส 1 ของปี 2568 นี้ มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมถึงการแจกเงินหมื่น ตัวเลขออกมาแล้วก็อยู่ในจุดที่น่าพอใจ ประมาณ 3% กว่า ทำให้หากส่งโมเมนตัมที่ดีนี้อย่างนี้ต่อไปได้ ก็มีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถประคองเศรษฐกิจให้จบปีในตัวเลขที่ดีได้ แต่เมื่อมีการขึ้นภาษีของสหรัฐ ความเสี่ยงไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทย ความเสี่ยงกระทบภาคการส่งออกอย่างชัดเจน เพราะเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจไทย จึงต้องหาวิธีและกลไกในการเข้าไปแก้ไข ทั้งการเจรจา และการเยียวยาเอกชน ภาคอุตสาหกรรมที่ถูกผลกระทบ เพื่อให้เข้าผ่านพ้นในช่วงนี้ไปได้
เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จึงเป็นเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวใน
ระยะยาวสร้าง Tourist Man Made Destination เป็นการปรับปรุงสร้างภาคการท่องเที่ยวไทย หากทำได้สำเร็จ ในอนาคตข้างหน้า อัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเพิ่มขึ้น 5-10% เทียบกับการไม่มี และมีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทในกรณีของกลุ่มที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาในจุดเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ลองนึกสภาพว่าประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เยอะ อาทิ วัดถามว่านักท่องเที่ยวมาแล้วต้องไปเที่ยว เสร็จแล้วจากนั้นหากมาเที่ยวไทยอีกครั้งจะกลับไปเที่ยวที่เดิมหรือไม่ มีการมาซ้ำอีกหรือไม่ ซึ่งเราต้องการสร้างสถานที่ซึ่งสามารถกลับมาได้เรื่อยๆ เพื่อที่จะดึงคนที่เป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเดิมกลับเข้ามาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาใช้เงินมานำเงินมาจับจ่ายใช้สอยให้มันเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ จึงเป็นจุดดึงดูดโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเรา ซึ่งมีความจำเป็น
การที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คัดค้านนั้น โดยหลักการทางประชาธิปไตย ส.ว.มีอิสระ ไม่ได้มีกลุ่มก้อนทางการเมืองในนั้นเนี่ยนะครับ ก็เป็นสิทธิและเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคนที่จะเห็นชอบหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับกลไกที่จะทำ ทั้ง ส.ว. หรือกลุ่มคนนอกสภา มองว่าทุกคนมีช่องทางแล้วก็มีกลไกตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่จะทำได้ตามกรอบอำนาจหน้าที่และก็สิทธิของตน สำคัญที่สุดหากจะเข้าสภาแล้วออกมาเป็นกฎหมาย ผ่านวาระได้แล้ว ทุกท่านก็มีสิทธิในการพิจารณาความเหมาะสม เห็นชอบหรือไม่ชอบ จะแก้ไขหรือไม่อย่างไร มีขั้นตอนตามกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อที่จะทำให้ปัญหาเบาบางลง ทุกอย่างเดินหน้าได้ ถึงแม้เร็วหรือช้าก็ตาม
สำหรับกระแสข่าวการขู่ไล่พรรคร่วมรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ยืนยันว่าไม่ใช่ความจริง เพราะหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคก็ยืนยันว่าไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ เป็นเพียงหนึ่งกฎหมายที่ไม่ได้คอขาดบาดตาย ไม่ใช่กฎหมายยทางการเงิน เป็นแนวความคิดและเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนให้สำเร็จ และได้รับการยืนยันจากหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคว่าทุกคนพร้อมที่จะร่วมลงเรือลำเดียวกันในการขับเคลื่อนมันให้มันสำเร็จ
ความกังวลการล็อกสเปกกลุ่มทุนที่จะเข้ามาทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ขอชี้แจงว่า กระบวนการเรื่องการประมูลโดยปกติจะไปอยู่ในระเบียบประกาศของกรมบัญชีกลาง กลไกทั้งหมดถูกกำกับโดยหน่วยงานของรัฐอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ต้องยึดถือเพราะว่ามีทั้ง พ.ร.บ.วินัย พ.ร.บ.วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีอยู่แล้ว โดยกลไกในการเดินหน้า หาก พ.ร.บ.เสร็จ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการจัดตั้งสำนักงานตามกฎหมาย มีการจัดตั้งคณะกรรมการทั้งระดับนโยบายและระดับควบคุมกำกับ เสร็จแล้วต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งเราต้องจ้างเอกชนทำที่มีความน่าเชื่อถือ ผ่านการแข่งขันกันเพื่อที่จะจัดจ้างมา จากนั้นต้องบอกว่าข้อศึกษาสรุปมาอย่างไร ประเทศไทยควรจะมีหรือไม่ มีกี่ที่ ที่ไหนเป็นตัวอย่าง หากจะเป็นที่จังหวัดกอไก่ ขอไข่ แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างอย่างไร มีจำนวนเม็ดเงินลงทุนที่ควรจะลงในแต่ละที่เท่าไหร่ ลงแล้วต้องมีการศึกษาผลกระทบกับชุมชนอย่างไร จะต้องมีเม็ดเงินลงมากลับเข้าสู่รัฐเท่าไหร่ เม็ดเงินที่ควรจะต้องตกไปถึงมือประชาชนหรือเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะเกิดขึ้นมากน้อย การศึกษาต้องละเอียด จากนั้นต้องออกเป็นทีโออาร์ และอีไอเอ วัดคะแนนกันอย่างโปร่งใส โครงการลักษณะนี้ไม่มีการงุบงิบ ลึกลับ ซับซ้อน เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายยังไม่ได้เดินหน้าไปถึงจุดนั้น กระบวนการยังไกลมาก
โมเดลนี้มีอยู่ 2-3 รูปแบบ อาทิ self-exclusion เป็นการกันตัวเอง คือหากเป็นคนที่เข้าไปในพื้นที่ที่เป็นกาสิโน อาจบอกได้ว่า 1 สัปดาห์ขอไม่เกิน 3 ชั่วโมง เอไอจะจับตั้งแต่เดินเข้า หากเข้าไปแล้วถึงเวลาออก ก็ต้องออกเลย อีกอันเป็น third party exclusion ก็คือครอบครัวเป็นต้น บอกว่านาย ก ไก่ ไม่ควรเข้าแล้ว พอเข้าไปถึงแสตมป์ผ่านเอกสารยืนยันตัวก็ถูกปฎิเสธไม่ให้เข้าเลย อีกส่วนคือกลไกในการกำกับผู้ดูแล สามารถเลือกกลุ่มได้อาทิ สิงคโปร์ หากเป็นคนที่เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นนักการเมืองจะไม่ให้เข้า ประเทศไทยอาจต้องสร้างกลไกลักษณะใกล้เคียงกัน สามารถควบคุมกำกับได้ เพราะว่าพื้นที่ที่เข้าไปจะมีระบบ KYC ขั้นสูง กล้องตรวจจับแบบทุกมุม ไม่มีทางที่จะหลบเลี่ยงแอบซ่อนเข้าไปได้
ส่วนกฎหมายจะผ่านในรัฐบาลนี้หรือไม่ ต้องบอกว่า โจทย์ของผม ผมเป็นคนทำงาน มีความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ แต่กฎหมายลักษณะนี้หากเข้าสภาแล้ว 1 ปียังไม่รู้จะอยู่หรือไม่ แล้วยังต้องไปวุฒิสภาอีก จึงใช้เวลาจริงๆ หากเราทำไม่เสร็จ กฎหมายก็คาไว้ พิจารณาไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลใหม่เข้ามามีหน้าที่จะยืนยันหรือไม่ยืนยัน หากไม่ยืนยันก็ตกไป หากยืนยันก็ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่กรรมาธิการวาระ 1 คือต้องมาเริ่มพิจารณากันใหม่ตั้งแต่ต้น โดยตรงนี้มองว่าเป็นโอกาสที่เราไม่ควรจะรอ เพราะรอมาหลายสิ่งหลายอย่างแล้ว เราเคยคุยกันเรื่องนี้มา 20 กว่าปี จนตอนนี้สิงคโปร์เกิดก่อน ก้าวล้ำประเทศไทยไปแล้วในหลายๆ มิติ ญี่ปุ่นที่คุยหลังเรา วันนี้ลงเสาเข็มเริ่มที่โอซาก้าแล้ว รวมถึงดูไบ เริ่มแล้วในเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นมาทั้งที่เป็นประเทศมุสลิมด้วยซ้ำ จึงมองว่า โอกาสมีต้นทุน การช้า การเสียเวลามันคือต้นทุนอย่างหนึ่งของสังคม เหมือนกับที่เรารอรถไฟความเร็วสูง แล้วเราก็โดนคำถามว่า ควรรอให้การทำเรื่องของถนนบางประเภทเสร็จก่อนหรือไม่ สุดท้ายเป็นการเสียโอกาสที่ผ่านมาถึงวันนี้ก็ยังทำไม่เสร็จ อันนี้คือต้นทุนของประชาชน และประเทศไทย ต้นทุนค่าเสียโอกาสในเรื่องของเวลา จึงมองว่าอย่างน้อยตัวเองมีหน้าที่ทำกฎหมาย เราทำกฎหมายให้พร้อม ส่วนในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ