สถานีคิดเลขที่ 12 : ครบทุกรสชาติ โดย นฤตย์ เสกธีระ

การเลือกตั้งเทศบาลที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคมนั้น ถือว่าครบทุกรส

การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้เปิดหน่วยลงคะแนน 76 จังหวัด ยกเว้น กทม.

มีจำนวนหน่วยเลือกตั้ง 34,818 หน่วย จากจำนวนเทศบาลที่มีการเลือกตั้ง 2,463 แห่งทั่วประเทศ

จากเดิมที่รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ แลดูเงียบๆ เพราะการประชาสัมพันธ์นิ่งมาก

แต่พอถึงวันเลือกตั้งจริงก็พบว่า สำหรับคนท้องถิ่นผู้สนใจการเมืองแล้ว ทุกพื้นที่ล้วนมีความเคลื่อนไหว

ADVERTISMENT

ความคึกคักมีทั้งใหญ่ทั้งเล็ก

นับตั้งแต่สนามที่สื่อระดับชาติจับตามอง อาทิ สนามเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ เพราะ นายทักษิณ ชินวัตร ไปช่วยหาเสียง ไปจนถึงสนามการเลือกตั้งระดับเทศบาลตำบล

มีกลุ่มคนลุ้นผลการเลือกตั้งจำนวนมาก

สำหรับผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ปรากฏว่านายอัศนี บูรณุปกรณ์ จากพรรคเพื่อไทยคว้าชัยไป

ความจริงแล้วสนามนี้ทางพรรคประชาชนแอบมีลุ้น เพราะคะแนนของนายธีรวุฒิ แก้วฟอง แรกๆ พุ่งขึ้นมา แต่ภายหลังก็แผ่วลง

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนมีความคืบหน้าเรื่องท้องถิ่น แม้จะไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกเทศบาลนครเลย แต่ก็ได้นั่งเก้าอี้นายกเทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล

ถือเป็นการปักหมุดเหมือนกับที่เคยปักหมุดที่ อบจ.ลำพูน มาเมื่อการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งที่แล้ว

ขณะเดียวกัน บรรดาทีมเจ้าถิ่นในจังหวัดต่างๆ ก็คว้าเก้าอี้นายกและสมาชิกสภากันคึกคัก

ที่เทศบาลนครนครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สามารถยึดหัวหาดเอาไว้ได้

ขณะที่เทศบาลตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นางยุพเยาว์ หลีนวรัตน์ ผู้สมัครนายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จ.ปทุมธานี ภรรยาของนายกเบี้ยว ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศบาลตำบลธัญบุรี และนายพีช สมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ลูกชายที่สมัครเป็น ส.ท. ต่างได้รับการเลือกตั้งทั้งคู่

แม้ก่อนหน้านี้จะมีเรื่องเกี่ยวกับความ “หัวร้อน” บนท้องถนน และกลายเป็นข่าวครึกโครมมาก่อนก็ตาม

นอกจากนี้ในการเลือกตั้งเทศบาลครั้งนี้ ยังมีบางพื้นที่ที่มีผู้สมัครลงคนเดียว โดยไม่มีคู่แข่ง

แต่ตามกฎต้องมีผู้ไปลงคะแนนให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีเสียงหนุนมากกว่าโนโหวต

กรณีนี้มีทั้งผู้ที่สอบผ่านแบบสบายๆ อย่าง นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา

และก็มีอีกหลายแห่งที่ลงสมัครนายกคนเดียว แต่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์

นอกจากนี้ บางพื้นที่ แชมป์เก่าพ่ายแพ้ เพราะชาวบ้านอยากเปลี่ยน

พื้นที่ใหญ่ๆ ที่เกิดปรากฏการณ์นี้ เช่น เก้าอี้นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ จ.สงขลา ที่นายณรงค์พร ณ พัทลุง ชนะ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี อดีตนายก

หรือที่เทศบาลนครแม่สอด ที่ นายกุล เครือวีระ อดีตรองนายก ชนะนายก ขึ้นแป้นไปทำงานแทน

ทั้งหมดเป็นบรรยากาศการเลือกตั้งที่คนกลุ่มหนึ่งอาสาเข้าไปทำงานให้ท้องถิ่น แล้วคนท้องถิ่นก็ออกไปใช้สิทธิเลือก

บางพื้นที่คนไปใช้สิทธิกันเข้มข้น อีกหลายพื้นที่คนไปใช้สิทธิกันเบาบาง

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีกลิ่นโฉ่บางพื้นที่ อย่างที่นนทบุรี เจ้าหน้าที่จับหัวคะแนนไปแจกเงินตามโพยหัวละ 300 บาท หรือที่จังหวัดพิจิตร มีแต่กระแสข่าวซื้อเสียงตั้งแต่หัวละ 1,000 บาท ถึง 3,000 บาท

ขณะที่บทโหดก็มีที่จังหวัดสงขลา เมื่อ ส.จ.คนดังถูกกล่าวหาว่าหัวร้อน โมโหตำรวจประจำหน่วย แล้วสั่งให้ลูกน้องรุมทำร้าย

ทุกรสชาติเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

วันที่คนท้องถิ่นมีโอกาสได้เลือกอนาคตของท้องถิ่นด้วยตัวเอง

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]