ป.ป.ช. ชี้ 13 รองอธิการฯมหิดลลาออก แม้ตั้งเป็นรักษาการ ก็ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบ

ป.ป.ช.ชี้ ตั้ง 13 รองอธิการบดี กลับมารักษาการ ไม่อยู่ในอำนาจ ป.ช.ช.ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สิน 13 รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลว่า เมื่อมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบ ป.ป.ช.ก็คงจะพิจารณาวาเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.หรือไม่ เรื่องดังกล่าวมีการมองในเรื่องระบบที่จะเพิ่มบุคคลที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่าควรจะใช้บังคับในรุ่นต่อๆไป การมาใช้บังคับครึ่งๆกลางๆเทอม ก็อาจจะกระทบกับหลายคน ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่ ป.ป.ช.จะนำไปพิจารณา แต่ที่ผ่านมาการที่ ป.ป.ช.จะกำหนดตำแหน่งบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะมีการวิเคราะห์ว่ากลุ่มใดมีความเสี่ยง เพื่อให้เกิดความสุจริต โปร่งใส ในเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ประชาชนได้เห็น วันนี้ ป.ป.ช.ก็กำลังพิจารณาในหลายกลุ่มที่จะประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก แต่ต้องคำนึงถึงกฎหมายว่าต้องมีการตรวจสอบทุกบัญชี จึงต้องดูศักยภาพและขีดความสามารถของเราด้วย เลยต้องจัดลำดับความสำคัญ กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงก็เอากลุ่มนั้นก่อน

“มีคนพูดเสมอว่าการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสควรจะยื่นบัญชีทรัพย์สินทุกคน แต่เราคงไม่มีปัญญาที่จะไปทำอย่างนั้น เพราะข้าราชการมีจำนวนมาก ถ้ายื่นมาแล้วไม่ตรวจสอบเหมือนกับอะไรที่กองอยู่ก็คิดว่าวันข้างหน้าจะให้มีการยื่นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่อยู่ระหว่างแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราต้องคิดพัฒนาต่อไป ไม่ใช่ให้เขายื่นแล้วเราไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร”

เมื่อถามว่ามีข้อเสนอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรักษาการด้วย พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ได้ครอบคลุมถึงตำแหน่งดังกล่าว จึงถือว่าตำแหน่งรักษาการไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่ง แต่ข้อสังเกตในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆจะพูดถึงบริบทที่ว่าการไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ คนรักษาการก็ต้องดูว่าอยู่ในตำแหน่งยาวนานแค่ไหน ถ้ารักษาการนานก็มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและสะท้อนว่าการที่เป็นเช่นนั้นอาจจะบ่งบอกถึงความบกพร่องของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่วันนี้เมื่อมีคำถามว่าตำแหน่งรักษาการต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ตนตอบเลยว่าไม่ต้องยื่น ส่วน ป.ป.ช.จะแก้ไขกฎหมายหรือช่องโหว่ในกรณีนี้หรือไม่ ก็ต้องไปพิจารณา แต่จะไม่แก้กฎหมายในเรื่องที่เป็นจุดเล็กๆ ทุกเรื่อง

Advertisement

เมื่อถามอีกว่าการลาออกของ 13 รองอธิการบดีแล้วกลับมารับตำแหน่งรักษาการโดยพฤติกรรมถือว่าตั้งใจปกปิดการยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เราต้องเข้าใจบริบทการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย อธิการบดี อาจมีกระบวนการสรรหารองอธิการบดีที่พร้อมเข้ามาช่วยงาน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้เติบโตมาในแบบข้าราชการจึงอาจจะขาดความชำนาญในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง จนเป็นเหตุให้ถูกร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาเฉพาะการบริหารจัดการในมหาวิทยาลัยมากกว่า

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า การที่มหาวิทยาลัยอื่นไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเป็นข้อโต้แย้งหรือไม่ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเราดูได้ว่าเรื่องที่กล่าวหาเกี่ยวข้อง หรือมีมหาวิทยาลัยใดบ้าง มันเป็นเรื่องความคิด เมื่อเผยแพร่ออกไปแล้วเห็นตรงกันว่ากระบวนการของ ป.ป.ช.ไม่ถูกต้องหรือไม่ที่ออกคำสั่งแบบนี้ แต่ตนพยายามมองในแง่บวก ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเราก็ต้องกลับมาดูว่าต่อไปถ้าจะประกาศตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอาจจะต้องทอดเวลาออกไปให้นานกว่านี้ และหากแต่ละมหาวิทยาลัยร้องขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปชี้แจงขั้นตอนในการดำเนนการยื่นบัญชีทรัพย์สินเราก็พร้อม ส่วนที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศว่าพร้อมยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช.นั้น ก็ต้องขอขอบคุณเพราะเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์โปร่งใส เพราะมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งทุกวันนี้งบประมาณเยอะมาก

“ผมไม่คิดว่าเรื่องที่เป็นข่าวจะมีความต้องการที่จะปกปิดอะไร เพราอย่างที่มีการบอกกันว่ากระบวนการของเรามันอาจจะเร่งรัดไปเขาเลยมีความรู้สึกไม่เห็นด้วย”

Advertisement

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนที่มีการเรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะนั้น ถ้ากฎหมายกำหนดไว้ ป.ป.ช.ก็พร้อมเปิดเผย แต่วันนี้เมื่อกฎหมายยังไม่ได้กำหนดก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบอยู่ คือ ป.ป.ช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา ไม่ใช่ ป.ป.ช.ตรวจสอบตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image