สงกรานต์วันที่ 2 ดับแล้ว 82 ราย “โคราช” แชมป์ยอดตายสะสมสูงสุด

สงกรานต์วันที่ 2 ดับแล้ว 82 ราย เกิดอุบัติเหตุ 995 ครั้ง บาดเจ็บรวม 1,049 คน “โคราช” แชมป์ยอดตายสะสมสูงสุด ด้าน “สธ.” เตรียมพร้อมรับมือผู้ประสบอุบัติเหตุ

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 13 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ประจำวันที่ 12 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ว่า เกิดอุบัติเหตุ 586 ครั้ง เสียชีวิต 48 ราย บาดเจ็บ 630 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ร้อยละ 42.32 เมาแล้วขับ ร้อยละ 30.38 ยานพาหนะ โดยร้อยละ 84.16 เกิดจากรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.16 เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.38 บนถนน อบต. หมู่บ้าน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่เชียงใหม่ 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือกาญจนบุรี 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดคือ เชียงใหม่ 32 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 2 วัน (11-12 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุ 995 ครั้ง เสียชีวิตรวม 82 ราย บาดเจ็บรวม 1,049 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 31 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 2 วันได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 51 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดได้แก่ นครราชสีมา 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 48 คน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมผู้เสียชีวิตลดลงจากปี 59 สำหรับมาตรดูแลของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลผู้ประสบอุบัติเหตุนั้น 1.มีการเตรียมทีมหน่วยกู้ชีพซึ่งผู้พบอุบัติเหตุสามารถโทรใช้บริการได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง 2.ในสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคคลการทางการแพทย์ ตัวยา เวชภัณฑ์และกลุ่มเลือดที่หายากเพื่อรองรับผู้ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเลือดหายากร่วมบริจาคตามจุดที่มีการร้องขอ นอกจากนี้สธ.ยังมีมาตรการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและวิกฤตสามารถใช้สิทธิรักษาในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทุกที่

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการป้องกันเมาแล้วขับนั้น สธ.ได้มีการตรวจเตือนไป 400 กว่าแห่งคือการจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาต จำหน่ายให้บุคคลที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ก็ได้ตักเตือนไปและหากไม่ฟังก็จะมีการจับกุม ขณะเดียวกันเราได้ประสานกับทางตำรวจเรื่องการตรวจเลือดในผู้บาดเจ็บที่ได้นำส่งมายังโรงพยาบาลมีตัวเลขที่น่าสังเกตว่าตัวผู้บาดเจ็บมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เราพบว่ามีกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ควรได้รับการจำหน่ายและดื่มกว่า 10 รายจาก 40 ราย จึงให้หาข้อมูลของกลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปีจะมีประมาณเท่าไร จะได้นำไปปรับมาตรการในเชิงพื้นที่ต่อไป และจับกุมในการทำผิดซึ่งหน้า และขอแนะนำประชาชนอย่าดื่มสุราในช่วงอากาศร้อนเพราะจะมีการกระตุ้นกับปฏิกิริยาในร่างกายทำให้เส้นโลหิตขยาย เกิดอาการตัวร้อน กดระบบประสาททำให้ร่างกายสูญเสียการควบคุมทั้งระบบประสาทที่คุมได้และคุมไม่ได้ โดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัวก็จะมีอันตรายเจ็บป่วยได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เกิดอุบัติเหตุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image