บทนำมติชน : คืนอำนาจแบบไหน?

ท่าทีของรัฐบาลที่จะขอให้มีบทเฉพาะกาล เพิ่มเติมกลไกพิเศษ ควบคุมการเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีคำอธิบายจากอดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า “เขาอยากอยู่ยาว” ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า พร้อมๆ กับการจัดเลือกตั้งในปี 2560 อำนาจพิเศษจะถูกยกออกไปด้วยผลของบทเฉพาะกาลหรือไม่ แล้วรัฐบาล คณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ภายใต้บทเฉพาะกาลจะมีที่มาอย่างไร มีอำนาจหน้าที่อย่างไร ฝ่ายที่เห็นต่างๆ ได้ใช้พื้นที่สื่อ ส่งคำเตือนถึงรัฐบาล อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีจนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในฐานะนายทหารรุ่นพี่ ขอให้ คสช.พิจารณาถอนตัว คืนอำนาจ ให้มีกรรมการกลางมารับช่วงจัดเลือกตั้งโดยเร็ว

ในความรับรู้ของสังคม เข้าใจกันว่า “โรดแมป” ของรัฐบาล มี 2 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และการเลือกตั้ง ประมาณเดือนกรกฎาคมปีหน้า หรือประมาณ 1 ปีหลังจากประชามติ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปได้ การเลือกตั้งในปี 2560 จะต้องเป็นการเลือกตั้งทั่วไปโดยเสรี เปิดกว้าง ให้ทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองได้แถลงแสดงนโยบายของตน ให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ตัดสินใจอย่างอิสระ เพื่อให้ผลการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด หลังจากนั้น พรรคการเมืองต่างๆ ต้องดำเนินการตามกรรมวิธีสากล ได้แก่ การเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สภารับรอง จากนั้นนายกรัฐมนตรีไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีรัฐบาลมาทำหน้าที่บริหารประเทศ กระบวนการเหล่านี้ต้องดำเนินการได้โดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซง

หากการคืนอำนาจตามโรดแมป กระทำโดยมี “เงื่อนไข” ต้องอยู่ภายใต้กลไกควบคุมการเปลี่ยนผ่าน ของบทเฉพาะกาล รัฐบาลอาจไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของสภา ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง มีอำนาจหน้าที่มาก เพื่อเป็นมือไม้คุมการเปลี่ยนผ่าน อันเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ก็คาดหมายได้ว่า ความราบรื่น จะไม่เกิดขึ้น ท่ามกลางความสงสัยของผู้ติดตามข่าวสาร ทาง กรธ.จะไปเก็บตัวปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญในรอบสุดท้าย ก่อนจะเปิดเผยร่างสุดท้ายอีกครั้งในวันที่ 29 มีนาคม ถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้มีการปรับแก้ให้เป็นไปตามหลักการ เพื่อป้องกันความสับสนยุ่งยากที่อาจจะเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image