วิษณุ แถลงประชุมใหญ่ เช็ค การบ้าน ป.ย.ป. รับ 4 วาระเร่งด่วนเพิ่มจาก สปท.

เช็ค การบ้าน ป.ย.ป. รับ 4 วาระเร่งด่วนเพิ่มจาก สปท.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูป ยุทธ์ศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการรายงานความคืบหน้าการทำงานของ 4 คณะกรรมการย่อย ป.ย.ป. คณะที่ 1 คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธ์ศาสตร์ รายงานการดำเนินการเรื่องสำคัญ เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีม่วง รถไฟไทย – จีน ราคาสินค้าการเกษตร การลดขั้นตอนในการทำธุรกิจ เป็นต้น คณะที่ 2.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้รายงานการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน พร้อมเสนอเสนอร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติเข้าสภาไปแล้ว คณะที่ 3.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ รายงานผลการดำเนินงานโดยรับ 27 วาระการปฏิรูปจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) พร้อมจัดลำดับความเร่งด่วนสำคัญ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบข้อเสนอเร่งด่วนเพิ่มเติมของ สปท. 1.การสร้างตลาดชุมชน 2.การประกันภัยทางการเกษตร 3.การตั้งศาลสิ่งแวดล้อม 4.การปลดล็อคความล่าช้าของการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ

นายวิษณุ กล่าวว่า คณะที่ 4 คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง รายงานผลการดําเนินงาน ว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ดําเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยในส่วนกลาง ได้เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และทุกภาคส่วน มาร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในประเด็นหารือเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยมีพรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ที่เข้ามามีส่วนร่วม 53 พรรค 2 กลุ่มการเมืองรวม 199 คน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่มาร่วมเสนอ ข้อคิดเห็น 43 องค์กร รวม 91 คน รวมทั้งสิ้น 290 คน และในระดับพื้นที่ ได้ดําเนินการเสร็จสิ้นครบทั้ง 79 จังหวัดแล้วครอบคลุมกลุ่มทุกภาคส่วน ในส่วนการดําเนินการในขั้นตอนตอนไปจะเป็นการดําเนินการจัดการประชุมกลุ่มย่อยทั้งใน ส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดยในส่วนกลางกําหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ในวันที่ 26 เมษายน ภายในพื้นที่ศาลาว่าการกลาโหม และในระดับพื้นที่กําหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อยในห่วงระหว่างวันที่ 26 เมษายนถึง 8 พฤษภาคม ภายในพื้นที่ทั้ง 4 กองทัพภาค ทั้งนี้คณะกรรมการจะนำข้อเสนอต่างๆมาหารือก่อนทำข้อตกลงสัญญาประชาชน

นายวิษณุ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบการเตรียมการและการดําเนินการตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีกฎหมายที่ต้องดำเนินการ เช่น กฎหมายที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)รับผิดชอบ จํานวน 10 ฉบับ ต้องให้มี กฎหมายนี้ภายใน 240 วัน นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่ง กรธ.ได้เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาแล้วจํานวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …. กฎหมายที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับผิดชอบ จํานวน 11 ฉบับ ซึ่ง ครม.ได้เสนอ สนช.พิจารณาแล้ว จํานวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.บ. พ.ร.บ.ว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. ฯลฯ

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวว่า แม้จะมีคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปแล้ว คณะกรรมการ ป.ย.ป.ก็จะยังทำหน้าที่ต่อไปเพื่อประสานงาน ติดตาม เร่งรัด ให้การเดินหน้าการปฏิรูปและยุทธศาสตร เป็นไปด้วยดีมากขึ้น ส่วนจะมีการยุบคณะกรรมการย่อยใน ป.ย.ป.หรือไม่ เมื่อเห็นว่าการทำงานมีความซ้ำซ้อน ป.ย.ป.จะพิจารณายุบอีกที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขา ป.ย.ป. ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางการขับเคลื่อนในอนาคต 3 ข้อ คือ 1.เสถียรภาพการเมือง 2. ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และ 3.ประสิทธิภาพของภาครัฐ ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมายของ ยุทธศาสตร์ชาติโดยการปฏิรูปจะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานสําคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เชิงเครือข่าย ทางปัญญา ทางสังคม และทางการคลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image