ถก กม.พรรคฯนัดแรกพรุ่งนี้! “สมเจตน์”ชี้เกณฑ์ตั้งพรรคไม่ยาก-ให้ส่งเอกสารชงความเห็นได้

กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.พรรคการเมือง พร้อมถกปมจ่ายค่าสมาชิกพรรค 100 บ. “สมเจตน์” รับกฎเหล็กหาสมาชิกพรรคไม่ใช่เรื่องยาก โวยฝ่ายการเมืองทำตัวให้ถูกคุมเข้ม

เมื่อวันที่ 23 เมษายน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวว่า ในวันที่ 24 เมษายน กมธ.จะประชุมนัดแรกเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้เป็นประธาน รองประธาน และตำแหน่งต่างๆ ใน กมธ. รวมทั้งวางแนวทางการพิจารณายกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ประเด็นที่ กมธ.ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ เรื่องที่พรรคการเมืองมีความเห็นต่างจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แก่ การจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคคนละ 100 บาทต่อปี เงื่อนไขการตั้งพรรคที่มีหลักเกณฑ์ยุ่งยาก แต่ยุบพรรคง่าย บทลงโทษพรรคการเมืองที่รุนแรง ประเด็นเหล่านี้ กมธ.จะนำเหตุผลของ กรธ.มาชั่งน้ำหนักดูว่ามีเหตุผลมากน้อยเพียงใด อาทิ กรณีการให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคปีละ 100 บาท ซึ่ง กรธ.ให้เหตุผลว่าเป็นจำนวนเงินที่สามารถจ่ายได้เพื่อให้สมาชิกกับพรรคการเมืองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นกว่าในอดีตนั้น ซึ่งพรรคการเมืองต้องตอบให้ได้ว่าจะมีวิธีการใดที่ช่วยให้สมาชิกกับพรรคการเมืองมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกัน นอกเหนือจากวิธีจ่ายค่าสมาชิกพรรค

พล.อ.สมเจตน์กล่าวอีกว่า ประเด็นการตั้งพรรคที่มีหลักเกณฑ์ยุ่งยาก แต่ให้ยุบพรรคง่ายนั้น กรธ.มีเหตุผลว่า พรรคการเมืองมีหน้าที่ส่งตัวแทนมาบริหารประเทศ จึงควรมีหลักเกณฑ์อย่างเป็นขั้นตอนในการตั้งพรรค ซึ่งเงื่อนไขที่ กรธ.ตั้งขึ้นมาถือว่าไม่ยากเกินไป โดยให้การเริ่มต้นตั้งพรรคการเมืองมีสมาชิกพรรค 500 คน และภายใน 1 ปี ต้องหาสมาชิกพรรคเพิ่มเป็น 5,000 คน และให้ครบ 10,000 คนภายใน 4 ปี เชื่อว่าทำได้ เช่นหากพรรคใดมี ส.ส.10-20 คน ก็ช่วยกันหาสมาชิกคนละ 500 คน จะทำไม่ได้หรือ เพราะยังสามารถหาเสียงจากประชาชนเลือกตัวเองเข้ามาเป็น ส.ส.ได้เลย ขณะที่กรณีถูกยุบพรรคก็เป็นการทำความผิดร้ายแรงต่อประเทศ อย่างไรก็ตามในการพิจารณาของ กมธ.คงไม่สามารถเรียกนักการเมืองมาให้ความเห็นต่อ กมธ.ได้แล้ว เพราะมีระยะเวลาพิจารณากฎหมายเพียง 45 วัน แต่ถ้าพรรคการเมืองต้องการแสดงความเห็น ก็ส่งเป็นเอกสารเข้ามาได้ กมธ.ไม่ได้ปิดโอกาสพรรคการเมือง และที่ผ่านมาในชั้นการพิจารณาของ กรธ. และคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ได้ให้พรรคการเมืองมาแสดงความเห็นต่อการยกร่างกฎหมายลูกฉบับนี้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image