‘พท.’ไม่อยากเดาอนาคตปท.หากไม่ยึดมติมส.ตั้ง’สังฆราช’ ‘ตู่’เตือนอย่าเพิ่มขัดแย้ง

‘พท.’ไม่อยากเดาอนาคตปท.หากไม่ยึดมติมส. เหน็บผู้ตรวจฯเป็นที่ปรึกษากม.ให้รัฐบาลหรือ นปช.เตือนอย่าจุดชนวนขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ขอให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวในฐานะชาวพุทธคนหนึ่ง กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่ามหาเถรสมาคม(มส.) เสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชผิดขั้นตอนนั้น ความเข้าใจเดิมตนเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล จึงเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถทำหน้าที่วินิจฉัยกฎหมายและตีความกฎหมายได้ด้วย ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับฟังหรือไม่ ตนเคยให้ความเห็นประเด็นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเปรียบเทียบเหมือนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีว่า ผู้มีหน้าที่นำความขึ้นกราบบังคมทูลไม่อาจประวิงเวลาได้ จะไม่กล่าวซ้ำในประเด็นดังกล่าวอีก แต่จะขอยกตัวอย่าง เพื่อเป็นอนุสติแก่ทุกฝ่ายโดยตนทราบมาว่า ในการประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เป็นการประชุมของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่สองนิกาย คือ มหานิกาย และธรรมยุติ โดยมี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นประธานที่ประชุม เมื่อถึงวาระการพิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปรากฎว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ออกจากห้องประชุมเนื่องจากมีส่วนได้เสีย ผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมแทน คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ และผู้ที่เสนอสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศ พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ เช่นเดียวกับผู้ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมผลการลงมติที่ประชุมเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 17 : 0

นายชวลิต กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคมประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติ ต่างเข้าใจประเพณีปฏิบัติเข้าใจและรักษากฎหมายคณะสงฆ์ ทั้งยังปรองดอง สามัคคี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลกันเป็นอย่างดี จนการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชในฝ่ายคณะสงฆ์ซึ่งอาศัยองค์กรมหาเถรสมาคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นวัตรปฏิบัติที่งดงามยิ่ง ในที่สุดหากรัฐบาลไม่ฟัง ไม่เชื่อมั่นในมติมหาเถรสมาคม ซึ่งประกอบด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองนิกายดังกล่าวข้างต้น แต่ไปฟังนายไพบูลย์ นิติตะวัน และพวก ผ่านเวทีทางโลกมาหลายเวทีอย่างโชกโชน ตนก็คาดการณ์ไม่ถูกว่า บ้านเมืองข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ได้แต่ภาวนาว่าขอให้ปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนี้ยุติลงด้วยดี โดยยึดหลักกฎหมายและประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานเป็นสำคัญ

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่ามติของมหาเถรสมาคม(มส.) เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง เป็นสมเด็จพระสังฆราชผิดขั้นตอนนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย จึงเข้าข่ายไม่ถูกต้อง เพราะขั้นตอนเริ่มต้นด้วยนายกรัฐมนตรี ต้องเสนอชื่อ สมเด็จพระราชาคณะให้มส.พิจารณา ซึ่งหากจะยึดการตีความของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น เชื่อว่าจะเป็นจุดชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งในพุทธศาสนา และยังแทรกแซงศาสนจักร เพราะการตีความโดยอ้างพจนานุกรมเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่มีอำนาจวินิจฉัยการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ดังนั้น การตีความมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 จึงเป็นเจตนาแทรกแซงศาสนจักรให้เกิดปัญหาวิกฤตขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image