“มีชัย” ชี้ หากพบผิดไพรมารีโหวต แค่ตัดสิทธิเลือกตั้งกก.บห.ยกชุด ไม่ถึงขั้นยุบพรรค

“มีชัย” ยัน กก.บห.ต้องคุมไพรมารี เป็นเรื่องภายในพรรค แต่ถ้าพบผิดฟันสิทธิลงเลือกตั้งยกชุด ไม่ถึงขั้นยุบพรรค ชี้ มันแรงไป

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง แนวทางการปรับแก้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. จะเสนอต่อกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ให้การทำไพรมารีโหวต มีโทษยุบพรรค ที่เปิดให้ให้ใครสามารถฟ้องก็ได้ ว่า พรรคต้องตรวจสอบ เพราะหากเสนอไปเท็จ รายงานเท็จ หัวหน้าพรรคต้องรับผิดชอบ จะมีโทษไม่แรง ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง มีผลทำให้เล่นการเมืองไม่ได้สักพักหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรคการเมือง เพราะเป็นเรื่องภายใน หากมีผู้กลั่นแกล้งในระบบไพรมารี่โหวตนั้น ใครเอาความเท็จไปแจ้งก็มีโทษ เราจะกำหนดโทษทุกระดับดักไว้ ซึ่งการกลั่นแกล้งนั้นจะกำหนดโทษไม่แรง คือ ตัดสิทธิเลือกตั้งเหมือนกัน คือจะใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเกณฑ์ หากโทษแรงมาก คนเขาก็จะไม่ฟ้อง คนที่ทำจะมีบอกหน้าที่ว่า ห้ามทำอะไร เช่น ห้ามไปซื้อ ห้ามเอาเงินไปจ่าย คนจ่ายก็โดน หากพรรครู้ แต่พรรคไม่ควบคุม หัวหน้าพรรคก็โดน

นายมีชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องไพรมารี่เป็นเรื่องภายในพรรค หากให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการ จะเท่ากับให้กกต.เข้าไปวุ่นวายภายในพรรคการเมือง ไม่ใช่เรื่องของการเลือกตั้ง โดยกกต.จะทำหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ ให้สัมพันธ์กับกรอบเวลาที่วางไว้ แม้จะเขียนว่าไพรมารี่ให้ทำก่อนประกาศเลือกตั้งได้ แต่บางกรณีไม่รู้ล่วงหน้า เช่น ยุบสภา บางคนก็บอกว่าให้ดูแนวโน้ม รู้ล่วงหน้าได้ ก็ไม่จริงเสมอไป ทั้งนี้เมื่อกำหนดให้ทำก่อน ก็ต้องมีระยะเวลาทำ ไม่ใช่ทำไว้ 3 ปีล่วงหน้า เพราะถึงตอนนั้นพรรคเองก็คงไม่รู้ว่าควรจะส่งใครลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้นต้องพิจารณาระยะเวลาใกล้เลือกตั้ง ขณะที่การตรวจสอบปัญหาของการทำไพรมารี่โหวตก่อนส่งชื่อให้กกต. นั้น เป็นประเด็นที่ กกต.ต้องไปวางแผน

เมื่อถามถึง ภาพรวมของการแก้ไข ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ของกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย นายมีชัย กล่าวว่า ขอให้เขาพิจารณาก่อน ส่วนกรณีที่กรธ. เสนอความเห็นโต้แย้งไป เช่น จำนวนสมาชิกพรรคที่จะทำไพรมารี่โหวต หรือการเห็นชอบโดยกรรมการบริหารพรรคเพื่อส่งชื่อให้กกต. นั้น เป็นรายละเอียดที่กมธ.ร่วมฯ ต้องพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีทางออกในหลักการแล้ว แต่บอกตอนนี้อาจจะถูกโกรธได้ สำหรับเนื้อหาที่แก้ไขมีหลักการเบื้องต้นแล้ว เพื่อเป็นข้อเสนอ แต่ไม่ใช่ข้อยุติ หากพูดก่อนจะกลายเป็นประเด็นผูกมัดของที่ประชุมกมธ.ร่วมฯ

Advertisement

“ผมเชื่อว่าการพิจารณาแก้ไขในกมธ.ฯ ร่วม จะไม่ทำให้การพิจารณายืดเยื้อและไม่เกิน 10 วันเพราะที่ผ่านมาได้ประสานและคุยกันก่อนแล้ว ผ่านพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช. ฐานะเจ้าของเรื่อง เราจำเป็นต้องคุยด้วยเพื่อรู้ว่าเขาคิดอะไร เราไม่ขัดขวางเขา แต่สิ่งที่คุยเพื่อทำเนื้อหาสมบูรณ์” นายมีชัยกล่าว

นายมีชัย ยังกล่าวถึงการทำร่างกฎหมายลูกฉบับต่อไป ว่า ตอนนี้ทำควบคู่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การตรวจเงินแผ่นดิน และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังติดขัดที่ว่าเราทำเบื้องต้นแล้วและส่งให้ สตง. พิจารณาแต่สตง. ยังมีข้อทักท้วง ดังนั้นสัปดาห์หน้าจะนัดเข้ามาหารือ เพื่อให้ไปด้วยกันได้ ไม่ต้องเถียงกัน ขณะที่ร่างกฎหมายว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น มีประเด็นพิจารณาในส่วนของการร้องจากประชาชนที่รัฐธรรมนูญให้ทำได้ แต่จะทำให้ง่ายก็ไม่ได้ เพราะคนทั้งประเทศไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจมีเงื่อนไขบางประการ เช่น เรื่องไหนที่ควรจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ เรื่องไหนควรไปที่องค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งที่ลำบาก

นายมีชัย กล่าวด้วยว่า กรธ.พยายามเขียนว่าแต่ละเรื่องนั้น ใครควรมีสิทธิอย่างไร ทำอย่างไร คือ พยายามแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือประเภทที่ไปยื่นคำร้อง ส่วนหนึ่งคือ เป็นประเภทที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำ เพื่อลดการเสียเวลาในขั้นตอนกรณีที่ส่งเรื่องไปแล้ว ศาลต้องประชุมหารือว่าจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณา ดังนั้นหน้าที่ของศาลคือการพิจารณาหรือมีคำวินิจฉัยว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image