‘สุวพันธุ์’เผย’บิ๊กตู่’อยากเห็นปฏิรูปตำรวจ ปรับ แจ้งความ-สอบสวนใหม่ใน 6เดือน

‘สุวพันธุ์’เผย’บิ๊กตู่’อยากเห็นปฏิรูปตำรวจ วิป 3 ฝ่ายเห็นร่วมผนวกแผนปฏิรูปตำรวจของ’สตช-สปท.’ยังไม่สรุปแผนโครงสร้างเลือก ผบ.ตร.รอรายงานนายกฯทราบก่อน ระบุต้องปรับปรุงการกระบวนรับแจ้งความ-สอบสวนภายใน 6 เดือน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ครั้งที่ 3/2559 ว่า การประชุมในวันนี้เป็นการเร่งรัดการปฏิรูปประเทศที่มีความเชื่อมโยงการทำงานของวิป 3 ฝ่าย (คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ซึ่งการปฏิรูปประเทศถือว่าคืบหน้าไปมากโดยเฉพาะเรื่องสำคัญๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบ เช่น การขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในส่วนของตำรวจจะมีการปฏิรูปการให้บริการประชาชน ทั้งการรับแจ้งความและงานสอบสวน ซึ่งได้มีการแจ้งไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบและจะส่งแผนปฏิรูปไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ ตนได้ส่งรายงานให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รับทราบแล้ว โดยการปรับปรุงแก้ไขระบบดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ ในส่วนของตำรวจเองก็มีความพร้อมที่จะปฏิรูปเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว โดยจะมีการแก้ระเบียบในส่วนของตำรวจเองเพื่อรองรับพนักงานสอบสวนที่จะเพิ่มขึ้นและให้สามารถทำงานเป็นทีมได้

นายสุวพันธุ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มีอีกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำรวจซึ่งจะรายงานต่อนายกฯ คือเรื่องการบริหารงานบุคคลตำรวจที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดธรรมาภิบาล ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  (สตช.) ก็ได้ตั้งคณะกรรมการและมีแผนปฏิรูปเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ สปท.ก็ได้เสนอแผนปฏิรูปงานบุคคลตำรวจทั้งหมด 9 เรื่อง แต่จะมีเรื่องสำคัญๆ คือการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) ได้พิจารณาและมีความเห็นร่วมกันว่าควรนำแผนปฏิรูปของทั้ง สตช.และ สปท.มารวมกันเพื่อดำเนินการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องสวัสดิการตำรวจ การให้บริการประชาชน รวมถึงอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสรุปแผนเพื่อรายงานถึงนายกฯ พิจารณาอีกรอบหนึ่งก่อน ซึ่งนายกฯต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image