ปานเทพ ชู 6 แผนต้านโกง บังคับกม.จริงจัง เร่งยึดทรัพย์จากการทำผิดเป็นของแผ่นดิน

คณะกรรมการปฏิรูปป้องกันทุจริตชู 6 แผน ปราบโกง

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แถลงแผนการปฏิรูปว่า คณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดแนวทางการปฏิรูป 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้มีการส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งให้มีกฎหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเป็นพลังในการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบและชี้เบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำความผิด โดยรัฐมีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสด้วย 2.ให้มีมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม การบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อตรง (Integrity) สุจริตของบุคลากร ใช้ดุลพินิจโดยสุจริต ภายใต้กรอบธรรมาภิบาล และการกำกับกิจการที่ดีอย่างแท้จริง

นายปานเทพกล่าวว่า 3.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ และสนับสนุน แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ 4.ยกระดับการบังคับใช้มาตรการทางวินัย มาตรการทางปกครอง หรือมาตรการทางกฎหมายต่อเจ้าพนักงานของรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ หรือกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเคร่งครัด

นายปานเทพกล่าวว่า 5.ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอน ทั้งไต่สวน ชี้มูล ฟ้องศาล พิพากษา ทั้งคดีแพ่งและอาญาให้รวดเร็ว รุนแรง เด็ดขาด เป็นธรรม เสมอภาค โดยเฉพาะมีการจัดทำและบูรณาการฐานข้อมูลคดีทุจริต ตลอดจนเร่งรัดการติดตามนำทรัพย์สินที่เกิดจากการกระทำผิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และในกรณีที่ยังไม่มีกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ก็ให้เร่งบัญญัติเพิ่มเติม 6.ให้มีกลไกที่เหมาะสมในการประสานงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ ในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศไทยปลอดทุจริต

Advertisement

นายปานเทพกล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดประเด็นการปฏิรูปออกเป็น 4 ด้าน คือ ป้องกันและเฝ้าระวัง ป้องปราม ปราบปราม และการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดประเด็นที่จะดำเนินการโดยเร่งด่วน 1.ด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง โดยสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชน ให้มีการร่วมตรวจสอบและเฝ้าระวัง ด้วยการออกกฎหมายรองรับการรวมตัวของภาคประชาชน และจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ โดยเฉพาะในรูปแบบ Digital Platform เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวัง 2.ด้านการปราบปราม จัดกลไกการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเร่งแก้ไขปัญหาและตรวจสอบพฤติการณ์ตามข้อร้องเรียน แจ้งเบาะแสของภาคประชาชน และหากพบการกระทำทุจริต ให้ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อนำมาลงโทษโดยเร็ว ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image