รบ.-คสช.ขอบคุณมีชัย ทำงานหนัก ได้รธน.น่าพอใจ ติง คนวิจารณ์ตัดสิทธิการศึกษา

โฆษกรัฐ ขอบคุณมีชัยเสียสละทำงานหนัก เผยรธน.ปราบโกงยอมรับได้แม้ยังไม่ตรงใจ หวั่นวันหน้าปัญหาเก่ากลับมา แนะทุกคนฟังข้อมูลให้รอบด้านก่อนลงประชามติ ชี้ยังมีโอกาสปรับปรุงหากประชาชนเรียกร้อง

เมื่อวันที่ 5 เมษายน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงประเด็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ในส่วนของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีและยอมรับได้ โดยเฉพาะในมาตราที่เกี่ยวกับการป้องกันการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในส่วนของนักการเมืองและข้าราชการ รวมถึงมีกลไกป้องกันการใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ มีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีทุจริตไว้หนักที่สุดเท่าที่เคยมีรัฐธรรมนูญมา อีกทั้งกฎเกณฑ์ยังมีการห้ามผู้ที่เคยต้องโทษหรือมีคดีความเข้าสู่การเลือกตั้งอีก เป็นการกำจัดคนโกงไม่ให้กลับเข้ามาสู่เส้นทางแห่งอำนาจได้อีก รวมทั้งเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ และสนับสนุนการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศอย่างชัดเจน และเท่าเทียม

“แม้จะเป็นร่างที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาเช่นกันว่า มีบางส่วนบางประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะยังไม่ตรงกับใจของรัฐบาลและ คสช. ที่ไม่ต้องการเปิดโอกาสให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกขึ้นในสังคมอีกในอนาคต รัฐบาล และ คสช. ให้เกียรติและเคารพในความเป็นผู้รู้ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทุกท่าน และขอบคุณที่ทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่กรุณาทำงานอย่างหนักมาตลอดหลายเดือน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคใหม่แห่งการปฏิรูปประเทศ” พล.ต.สรรเสริญกล่าว

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า อยากเชิญชวนประชาชนคนไทยทั้งประเทศได้รับฟังเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้าน และลึกซึ้ง ไม่หลงติดกับดักข้อมูลลวง หรือการตีความอย่างผิวเผินและคลาดเคลื่อนจากเจตนารมณ์ก่อนตัดสินใจลงประชามติ เพราะขณะนี้มีหลายฝ่ายออกมาตีความและอธิบายร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง โดยหากเป็นกลุ่มการเมืองส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงเพียงประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจ การได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ และสิทธิต่างๆ ของนักการเมือง โดยแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเลย ขณะที่บางกลุ่มมีความพยายามศึกษาตรวจทานเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะไม่เข้าใจเจตนารมณ์หรือเหตุผลเบื้องหลังการร่างฯ อย่างชัดเจนจึงอาจมองข้ามเจตนาดีของผู้ร่าง เช่น เรื่องการศึกษา กำหนดไว้ในมาตรา 54 ว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งบางคนเข้าใจไปเองว่า รัฐลดการสนับสนุนด้านการศึกษาลง แต่ความจริงแล้ว รัฐยังคงสนับสนุนการศึกษาเป็นระยะเวลาเท่าเดิม แต่ถือเป็นความท้าทายและภารกิจใหม่ที่จะต้องดูแลเด็กเยาวชนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ไม่ใช่รอจนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1

Advertisement

“ในการลงประชามติ ประชาชนยังสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญโดยจะมีการตั้งเป็นคำถามในบัตรลงคะแนน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ร่างรัฐธรรมนูญได้อีก ตามเสียงสนับสนุนของประชาชน จึงอยากให้ทุกคนพิจารณาและแสดงความเห็นด้วยความรอบคอบเพื่อบ้านเมืองในอนาคต” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image