‘อภิสิทธิ์’ค้านให้อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ แนะคสช.ให้ความชัดเจนแก่ ปชช.

(แฟ้มภาพ)

“มาร์ค” ค้านให้อำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ เชื่อ “มีชัย” ก็ไม่เอา แนะ สนช.เลี่ยงพ่วงคำถามประชามติสร้างความสับสน หวั่นส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน อัด พท.-นปช. ใช้ร่าง รธน. สร้างความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะตั้งคำถามประกอบประชามติให้สอดคล้องกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่องการเพิ่มอำนาจให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน ได้ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาหรือแต่งตั้ง มาลงคะแนนลบล้างคะแนนเสียงของ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา จะทำให้รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. บริหารงานได้ยาก ทั้งในแง่การผ่านกฎหมายในสภาฯ การผ่านงบประมาณ หรือญัตติต่างๆ เพราะหากประชาชนที่เลือกนักการเมืองมา มองว่าเสียงของตัวเองถูกลบล้าง ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ตนเข้าใจว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) และคณะได้ดูประเด็นนี้แล้ว แต่ตัดสินใจไม่เอา

เมื่อถามว่า หากมีการกำหนดให้ ส.ว.สรรหา สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนได้ จะเป็นจุดที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มีหลายปัจจัย คือ ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีผลอย่างไร และหลายคนกังวลว่า ถ้าไม่รับร่างจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ แล้วจะยังคงเดินหน้าตามโรดแมปหรือไม่

“สิ่งที่ผมคิดว่าควรจะต้องทำในขณะนี้ คือการทำประชามติต้องเป็นไปตามหลักสากล ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออก คสช. ควรทำให้ชัดเจนว่า ทางเลือกของประชาชนคืออะไร หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วร่างใหม่ที่จะนำมาใช้จะเป็นอย่างไร รวมทั้งสนช.ควรหลีกเลี่ยงการพ่วงคำถามใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสับสน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่ขัดกับหลักการ กรธ.” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เรียกร้องให้พรรคปชป.แสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หัวหน้าพรรคปชป.กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่พรรคปชป.ต้องพิจารณา คือ นปช.กำลังเอาเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไปสร้างความขัดแย้ง ส่วนเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญนั้นพรรคปชป.ตอบชัดเจนไปแล้วว่า ส่วนไหนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ทำให้คนกังวลค่อนข้างมาก คือ ท่าทีของ นปช.และพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไปเล่นการเมือง เช่น เรียกร้อง คสช.หรือนายกรัฐมนตรีลาออก ซึ่งตรงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พรรคต้องพิจารณาท่าทีให้รอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image