มติครม.คลอดพ.ร.บ.ป่าชุมชน อนุญาตเก็บของป่า-ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มั่นใจช่วยลดขัดแย้ง

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์

รมว.ทส. แถลงมติครม. คลอด พ.ร.บ.ป่าชุมชน หวังสร้างแรงจูงใจให้ปชช.จัดการป่าไม้ชุมชน อนุญาตเก็บของป่า-ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตั้งเป้า ลดขัดแย้ง ชาวบ้าน-จนท.รัฐ

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งป่าชุมชนในปัจจุบัน อาศัยอำนาจของกฎหมายตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งเป็นกฎหมายในลักษณะการควบคุม โดยจะดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับชุมชน จึงยังไม่ครอบคลุมอำนาจหน้าที่ของชุมชน รวมไปถึงกิจกรรมด้านป่าชุมชนและประโยชน์ที่ชุมชนพึงได้รับ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการป่าชุมชน (ร่าง) พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ….จึงเป็นการตอบโจทย์เพราะป่าชุมชนเป็นรูปแบบการส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ใกล้ชุมชน เพื่อให้ทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นมีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ครม.อนุมัติร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. เพราะเป็นกฎหมายให้สิทธิแก่ชุมชนในการบริหารจัดการป่าชุมชนซึ่งอยู่ในท้องถิ่นของตน มีสาระสำคัญคือ 1. มีโครงสร้างการบริหารในรูปคณะกรรมการใน 3 ระดับ เพื่อถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด และคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน 2. การจัดตั้งป่าชุมชน ชุมชนสามารถยื่นคำขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนเป็นบริเวณเพื่อการอนุรักษ์และบริเวณเพื่อการใช้ประโยชน์ 3. การจัดการป่าชุมชน กำหนดให้มีแผนการจัดการป่าชุมชน ให้มีหลักเขต ป้าย ทั้งยังให้สมาชิกป่าชุมชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากผลผลิตและบริการจากป่าชุมชน ซึ่งได้แก่ การเก็บหาของป่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การนันทนาการ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอื่น เช่น น้ำ อีกด้วย 4. เงินรายได้และทรัพย์สินส่วนกลางที่เกิดจากค่าธรรมเนียม ค่าบริการ เงินสนับสนุนจากรัฐบาล เงินบริจาค ไม้ที่สมาชิกร่วมกันปลูกสามารถนำมาใช้เพื่อการจัดการป่าชุมชนในท้องถิ่นได้ 5. สำหรับป่าชุมชนที่จัดตั้งตามกฎหมายเดิม และยังมีอายุโครงการอยู่ ให้ถือว่าได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นป่าชุมชนโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นแรงจูงใจให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการป่าของชุมชน เพื่อความมั่นคง (ทางสังคม) มั่งคั่ง (ทางเศรษฐกิจ) และยั่งยืน (ด้านสิ่งแวดล้อม) เป็นการกระจายอำนาจสู่ระดับพื้นที่ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานด้านป่าชุมชนและเป็นไปตามความต้องการของชุมชนและเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งเชื่อว่าประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติจะได้รับในด้านเศรษฐกิจ เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น มูลค่าการพึ่งพิงป่าประมาณ 4,266 ล้านบาท, ด้านสังคม ชุมชนมีความ เข้มแข็ง เกิดความสามัคคี เกิดสำนึกรักบ้านเกิด แรงงานคืนถิ่น อีกทั้งยังฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ประชาชนมีความสุขและได้รับประโยชน์มากกว่า 3 ล้านครัวเรือน, ด้านสิ่งแวดล้อม ป่าเกิดความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และลดภาวะโลกร้อนสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ช่วยกักเก็บคาร์บอน 40 ล้านตันคาร์บอน ช่วยกักเก็บน้ำในดิน 3,966 ล้าน ลบ.ม.

Advertisement

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การขยายการจัดตั้งป่าชุมชนตามนโยบายรัฐบาล จำนวน 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่ 19.1 ล้านไร่ เกิดเครือข่ายป่าชุมชนช่วยภาครัฐในการเฝ้าระวังดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่ป่าของรัฐมีสภาพที่ดีขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์ รักษาและฟื้นฟูป่านำไปสู่พื้นที่ป่าไม้ 40 % ลดความขัดแย้งและเกิดความร่วมมือระหว่างราษฎรในชุมชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ให้การสนับสนุนชุมชนในลักษณะ “ประชารัฐ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image