ถอดรหัส’คำถามพ่วง’ ‘เที่ยงตรง’หรือ’ชี้นำ’

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีการตั้งคำถามพ่วงพร้อมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะมีนัยยะในทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประเด็นการตั้งคำถามพ่วงร่วมกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ดีเหมือนกัน เพราะผมเองก็อยากรู้ว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้จะคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่เสนอให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โหวตกันเลย จะได้รู้กัน ส่วนกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ออกมาระบุว่าเป็นคำถามนำ มีคำยาก และยาวเกินไป อาจทำให้ประชาชนสับสนนั้น ผมคิดว่าไม่ต้องห่วง ประชาชนเข้าใจอยู่แล้ว เพราะกรณีนี้เป็นประเด็นที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่อย่างมาก จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะประชาชนจะสนใจรับฟังข้อถกเถียงนี้จนทราบสาระของคำถามพ่วงได้เอง

Advertisement

ในทรรศนะของผมมีความเป็นไปได้เหมือนกัน หากจะมองว่าการตั้งคำถามพ่วงประชามติที่มีสาระให้ ส.ว.ในช่วงเปลี่ยนผ่านมีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.เกิดขึ้น เพราะทาง คสช.ยังไม่พอใจการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ได้เสนอ เพราะนี่เป็นการเสนอโดยแม่น้ำ 2 สายของ คสช.เอง แต่ทั้งนี้ผมไม่ได้มองเรื่องการสืบทอดอำนาจเป็นสำคัญ เพราะคำถามนี้เป็นสิ่งที่ใครหลายคนรวมทั้งผมเองก็อยากรู้ว่าคนส่วนใหญ่จะคิดอย่างไร เพราะที่ผ่านมาต่างฝ่ายก็ต่างอ้างเหตุจากความเชื่อของตัวเอง โดยที่ไม่เคยมีตั้งคำถามให้คนส่วนใหญ่ตอบแม้แต่ครั้งเดียว

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนที่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีคำถามเช่นนี้ให้ประชาชนตอบด้วย เพราะจะได้รู้คำตอบที่เป็นปัญหาเสียทีว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้คิดเห็นอย่างไร สมมุติเฉพาะคำถามพ่วง หากคนส่วนใหญ่รับก็จะได้รู้กันไปว่า “อำนาจนอกระบอบ” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยยอมรับได้ แต่ที่สำคัญหากผลออกมาแล้วประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการก็ขอให้เลิกพูด และอย่าไปฝืนด้วยการจุดไฟขึ้นมาอีกก็แล้วกัน

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำถามพ่วงประชามติ นั้นมองว่ามีนัยยะสำคัญอยู่ 4 ประการ คือ 1.เป็นการร้องขอความเห็นชอบจากประชาชนเพื่อลดอำนาจของตัวเองในการเลือกผู้นำในการบริหารประเทศ หรือนายกรัฐมนตรี และถ่ายโอนอำนาจนี้ไปให้ ส.ว.ซึ่งมาจากการสรรหาของ คสช. ความหมายก็คือเป็นการลดอำนาจก็เนื่องจากเป็นการให้อำนาจ ส.ส.กับ ส.ว.ใช้ร่วมกัน เช่น หากพรรคเอได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่งได้คือได้ 251 เสียงจาก ส.ส. ทั้งหมด 500 เสียง แต่ก็ยังไม่พอเพราะต้องไปใช้คะแนนร่วมกับ ส.ว. ด้วย แต่หากพรรคบีโหวตร่วมกับ ส.ว. ซึ่งทั้ง 250 คน มาจากการคัดเลือกของ คสช. เสียงของ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะกลายเป็นเสียงที่ชี้ขาดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

2.จะเห็นว่าการลดอำนาจเป็นการตั้งคำถามที่ค่อนข้างแยบยล ซ่อนกลเอาไว้ เพราะใช้คำว่าให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี แทนที่จะบอกไปตรงๆ ว่าให้วุฒิสภาใช้อำนาจร่วมกับ ส.ส. ดังนั้นจริงๆ แล้วการตั้งคำถามในลักษณะนี้เป็นการตั้งคำถามที่ขัดกับหลักประชามติสากล เพราะจะต้องมีการตีความ เป็นการเบี่ยงความสนใจของประชาชน และดูมีท่าทีที่ไม่จริงใจนัก

3.ผลของมันมีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนไว้ 5 ปี ดังนั้นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีมากกว่า 1 ครั้ง เพราะถ้าเกิดมีการล้มหรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถอยู่ได้และมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 ปีนี้ ผลของคำถามนี้ก็จะยังคงอยู่และให้อำนาจแก่ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีกี่ครั้งก็ได้ในระยะเวลาที่กำหนด

4.เกิดความสับสนในการพิจารณาผลในการทำประชามติ สมมุติว่าคนที่ไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญชอบเนื้อหารัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยแต่ไม่ได้ชอบคำถามนี้ ผลปรากฏว่าต้องโหวตรับรัฐธรรมนูญด้วย โหวตคำถามนี้ด้วย ที่สุดแล้วร่างของอาจารย์มีชัยอาจจะถูกเสียบด้วยคำถามนี้เข้าไปทำให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผลเช่นนี้ก็จะทำให้คนที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญแต่ไม่ได้ต้องการให้ ส.ว.ใช้อำนาจร่วมกับ ส.ส.จะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองโหวตไปไม่ได้ผลอย่างที่ตนเองต้องการ ทำให้เกิดการตีความผลของการประชามติมีความสับสนว่าสุดท้ายแล้วจะใช้เกณฑ์อะไรในการเปลี่ยนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ความสับสนนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้ารับทั้งสองคำถาม ซึ่งประเด็นนี้ส่วนตัวประเมินว่าอาจจะทำให้คนอยากรับร่างรัฐธรรมนูญน้อยลง

ความเป็นจริงแล้วคำถามพ่วงในการทำประชามตินั้นเป็นเรื่องปกติในสากลประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคำถามเพื่อประกอบการตัดสินใจในมิติอื่นๆ ที่ผลของคำถามจะต้องไม่ไปขัดแย้งกับคำถามหลัก ตัวตั้ง หรือคำถามหัวใจของการทำประชามติ และไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาหลักของคำถามหลัก เช่น อาจจะถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดแทน ก.2540 ข.2550 ค.2557 เป็นต้น

หากคำถามพ่วงประชามตินี้ผ่านสิ่งที่กังวลใจ คือ รัฐบาลหน้าที่มาจากการเลือกตั้งโดยที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้นจะไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถออกกฎหมายที่จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ยากเนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย

โดยสรุปจะเห็นได้ว่าคำถามข้อนี้จะนำมาสู่ความสับสน และทำให้ร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยที่จะนำมาทำประชามตินั้นไม่สมบูรณ์ในตัวเอง

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำถามในประชามติควรเป็นคำถามประเด็นเดียว แม้คำถามจะยาวแต่หากถามเพื่อให้ประชาชนตอบในประเด็นเดียวคือเอาหรือไม่เอาก็จะไม่มีปัญหา แต่ในคำถามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คิดมาไม่ได้ถามว่าประชาชนจะอนุญาตให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่กลับมีท่อนคำถามแรกที่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ถือเป็นการตั้งคำถามสร้างเงื่อนไข ดังนั้นจะต้องมีการอธิบายคำถามดีๆ ว่ามีอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ในคำถามนี้ ซึ่งคำถามนี้ต้องบอกเลยว่ายาก เพราะไม่ได้วัดจากการตัดสินใจว่าแยกหรือไม่แยก เอาหรือไม่เอาอย่างเดียว โดยอาจจะทำเป็นกล่องอธิบายคำถามก่อนที่จะให้คนลงประชามติ หรือในช่วงที่ทุกฝ่ายตัดสินใจแล้วว่าคำถามนี้คือคำถามที่จะใช้ในประชามติจะต้องมีการสร้างความเข้าใจ หากอธิบายไม่ดีมันอาจจะเป็นผลร้ายต่อความต้องการของ สนช.และ สปท.เองที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตนายกฯก็ได้ เพราะหากพิมพ์เขียวการปฏิรูปออกมาก่อนการทำประชามติ แล้วประชาชนไม่เห็นด้วยกับพิมพ์เขียวเขาก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงนี้ด้วยเช่นกัน

ประชาชนทั่วไปมีระดับการศึกษาที่ต่างกัน ดังนั้นระดับความเข้าใจในคำถามพ่วงก็จะต้องต่างกันด้วย ซึ่งหากประชาชนบางส่วนอ่านแล้วไม่เข้าใจคำถามหรือเข้าใจผิด ก็จะทำให้เขาไม่ได้โหวตช่องที่เขาตั้งใจไว้ก็ได้

ส่วนที่ว่าคำถามพ่วงลักษณะนี้เป็นการชี้นำหรือมีนัยยะการเมืองหรือไม่นั้น มองว่าการทำประชามติคือการถามคำถามกับประชาชน เพื่อจัดการเกี่ยวกับสถาบันทางการเมือง รัฐธรรมนูญ รวมถึงโครงการกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้นคำถามลักษณะนี้ถือว่าถามได้ อย่างไรก็ตามเหตุผลของคำถามนี้คือ สนช.และ สปท.เองก็พยายามจะเสนอแนวทางนี้ไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณา แต่ กรธ.ก็ไม่รับ ทำให้ สปท.และ สนช.จึงพยายามจะมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านช่องทางคำถามพ่วงนี้ ทำให้มองได้ว่าประชาชนก็มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอยู่บ้างเล็กน้อย

ในต่างประเทศการทำประชามติมักจะมีผลออกมารับหรือไม่รับไม่ต่างกันมากนัก แทบจะไม่มีประเทศใดที่ทำประชามติแล้วเสียงขาดแน่นอน และจากการตั้งข้อสังเกตถ้าประชามติครั้งนี้มีเพียงคำถามที่ว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคนจะออกมาใช้สิทธิไม่มากนัก แต่การมีคำถามพ่วงมาด้วยจะกระตุ้นให้คนออกมาใช้สิทธิมากขึ้นอย่างแน่นอนเพราะการมีคำถามพ่วงหมายถึงมีการเดิมพันที่สูงขึ้น เพราะไม่ใช่แค่รับหรือไม่รับร่างอย่างเดียว แต่หมายถึงอนาคตประเทศอีก 5 ปี ประชาชนจะยอมให้มีคนอื่นมาเลือกนายกฯอีก 2 คนใน 8 ปีแทนพวกเขาหรือไม่

ถ้าถามว่าหากมีคำถามพ่วงจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่นั้น ผมคิดว่าคำถาม 2 ข้อเอามาเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ แต่จากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีบอกว่าหากประชามติไม่ผ่าน อาจจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาปัดฝุ่น ดังนั้นถึงแม้ประชามติร่างฯไม่ผ่าน แต่ถ้าคำถามพ่วงเรื่อง ส.ว.เลือกนายกฯผ่าน สุดท้ายเขาก็เอาไปไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัดฝุ่นอยู่ดี ดังนั้นคำถามสองคำถามจึงเหมือนบังคับให้โหวตรับทั้งคู่หรือไม่รับทั้งคู่ เหมือนกระแสไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมากขึ้น ก็เท่ากับกระแสของการไม่เอาคำถามพ่วงนี้มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นเดาว่าคนจะโหวตรับทั้งคู่กับไม่รับทั้งคู่มากกว่าโหวตคนละคำตอบกันแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image