มุมมอง ‘พรรคใหม่’ 3 ทางเลือก ‘ไพรมารี’

หมายเหตุ – ความเห็นของหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กและพรรคจัดตั้งขึ้นใหม่ต่อข้อเสนอของ นายนิกร จำนง ผอ.พรรคชาติไทยพัฒนาชง 3 ทางเลือกคลายปมไพรมารีโหวต คือ 1.ทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบ 2.ทำไพรมารีเป็นรายภาค และ 3.ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัคร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน


 

สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์
หัวหน้าพรรคพลังพลเมืองไทย

พรรคพลังพลเมืองไทยเตรียมการทำไพรมารีโหวตไว้อยู่แล้ว เชื่อว่าไม่มีปัญหา ส่วนที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอ 3 แนวทางในการทำไพรมารีโหวตนั้น คิดว่าถ้าให้ทำเป็นรายภาคหรือให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรค เป็นผู้จัดการกันภายในจะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเหมือนจะขัดในหลักการเพราะเจตนาของระบบนี้คือต้องการให้ประชาชนหรือสมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ ได้มีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนไปลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่การทำเป็นรายภาคหรือให้ที่ประชุมใหญ่เป็นคนเลือกไม่ได้สะท้อนเสียงจากในพื้นที่จริงๆ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่านายนิกรคงเห็นมีความจำเป็นที่จะต้องละเว้นการทำอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องทำไปเลย โดยให้ใช้มาตรา 44 หรือแก้กฎหมายเพื่อยกเลิกไปเลย แต่ถ้าจะทำก็ควรทำให้ครบถ้วนตามเจตนาของกฎหมาย

Advertisement

การทำไพรมารีโหวตเชื่อว่าถ้ามีเวลาก็จะสามารถทำได้ทัน ระบบนี้พรรคใหญ่ได้เปรียบเพราะมีบุคลากรจำนวนมาก ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กจะต้องหาสมาชิกเพิ่มเติม และพรรคการเมืองขนาดเล็กอาจมีค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอกับการดำเนินการส่วนนี้ เพื่อที่จะได้จำนวนสมาชิกครบถ้วนตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้การหาสมาชิกพรรคจะไม่ใช่เรื่องยากเพราะประชาชนส่วนหนึ่งไม่ได้ไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเดิม ดังนั้นจึงรอให้พรรคการเมืองต่างๆ มาติดต่อขอให้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค แค่พรรคการเมืองจะต้องพร้อมมีเจ้าหน้าที่ในการหาสมาชิกเพิ่มเติม

พรรคการเมืองขนาดเล็ก ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่มีสมาชิกน้อย แต่ปัญหาคือไม่มีทีมงานที่จะลงไปทาบทามประชาชนให้มาร่วมเป็นสมาชิกพรรค และยังมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากการจะจัดประชุมจะต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าสถานที่ ค่า อาหาร เอกสาร เป็นต้น แต่เราสนับสนุนให้ทำไพรมารีโหวต ให้ตรงตามเจตนาของรัฐธรรมนูญ คิดว่าการทำไพรมารีโหวตเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนจะได้มีส่วนร่วม แม้หลายพรรคการเมืองกังวลว่าจะทำไม่ทันก็ตามแต่สมมุติว่ามีการปลดล็อกหรือคลายล็อกพรรคการเมืองในวันที่ 1 กันยายนนี้เชื่อว่าจะสามารถทำได้ทัน


 

Advertisement

อุเทน ชาติภิญโญ
หัวหน้าพรรคคนไทย

ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยโดยคนไทยไม่พร้อมต่อการทำไพรมารีโหวต โดยได้เสนอในที่ประชุมพบปะหารือระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้วว่า การทำไพรมารีโหวตควรถูกยกเลิก เหตุผลคือคนไทยยังมีวุฒิภาวะต่ำ องค์ความรู้ยังน้อย คนไทยจะเอาด้วยกับเรื่องใดก็ต่อเมื่อตัวเองหรือกลุ่มของตัวเองได้ประโยชน์ด้วย เข้าทำนองพวกมากลากไป ในอดีตเมื่อครั้งที่อยู่พรรคพลังธรรม พรรคก็เคยทำไพรมารีโหวตมาแล้ว และทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำมาก่อนเช่นกัน ทั้งการทำไพรมารีโหวตและการเก็บเงินค่าสมาชิก แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นบล็อกโหวตในเขตนั้นๆ แม้โดยหลักการการทำไพรมารีโหวตจะดูดีเพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่จริงๆ แล้วถามว่าใครจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ ประชาชนเขาต้องการใช้สิทธิเพียงครั้งเดียว วันเดียว ในเวลาไม่เกิน 3 นาที คือ วันเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราไม่ดัดจริต ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ก็จัดตั้งมาทั้งนั้น การเมืองเป็นแบบนี้มาตลอด แต่เมื่อเขียนเรื่องไพรมารีโหวตมาแล้ว คิดว่าผู้เขียนกฎหมายควรต้องรับผิดชอบ อยากฝากให้สื่อมวลชนไปค้นหาว่าผู้เขียนกฎหมายเขียนเรื่องนี้เพื่ออะไร

แม้ว่านายนิกรจะเสนอวิธีการทำไพรมารีโหวตมากี่วิธีก็ตาม แต่สุดท้ายก็จะกลายเป็นบล็อกโหวต เพราะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วมติทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรคที่คำนึงถึงความเหมาะสม การทำไพรมารีโหวตจึงเป็นการเสียเวลา เพราะทำมาแทบตาย สุดท้ายก็มาตกที่กรรมการบริหารพรรค ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครพูดถึงจุดนี้เลย ส่วนที่มีแนวคิดปรับระดับการทำไพรมารีโหวตจากเขตไปเป็นจังหวัด จากจังหวัดไปเป็นภาค คิดว่ามันไปกันใหญ่แล้ว สมมุติอำเภอ ก เป็นอำเภอขนาดใหญ่ มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนมาก แต่ผู้สมัครกลับเป็นคนจากอำเภอ ข แล้วคนจากทั้ง 2 อำเภอนี้จะรู้จักกันได้อย่างไร

ในฐานะคนเรียนคนกฎหมาย รู้สึกฝืนใจอย่างยิ่งที่ต้องมาทำตามกฎหมาย และทำให้พรรคคนไทยอาจต้องพิจารณาตัวเองในการยุติบทบาททางการเมือง รู้สึกเสียดายที่พรรคไม่สามารถนำแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทยมาปฏิบัติได้ตามที่หวังเพราะติดกับเงื่อนไขเหล่านี้ ส่วนที่มีความเห็นว่าไม่สามารถยกเลิกการทำไพรมารีโหวตได้ เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น คาดไว้อยู่แล้วว่าต้องมีการอ้างเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าผู้เขียนกฎหมายต้องการให้เป็นไปตามนี้ เพราะฉะนั้น จะร้องแรกแหกกระเชอไปเขาก็ไม่ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต หรือที่เสนอกันว่าให้ยกการทำไพรมารีโหวตไปทำในการเลือกตั้งรอบหน้า ก็เป็นการผิดเงื่อนไขจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน ดังนั้น เห็นว่าทางออกในตอนนี้ คือ ผู้เขียนกฎหมายควรเพิ่มเติมแนบท้ายรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวตไปเลย เพราะที่ผ่านมาก็เพิ่มเติมมาไม่รู้กี่อย่างแล้ว


 

สุรทิน พิจารณ์
หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่

พรรคประชาธิปไตยใหม่พร้อมทำไพรมารีโหวตตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนด แต่ด้วยเงื่อนเวลานี้ที่ยังคิดล็อกคำสั่ง คสช.ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ จึงทำให้เวลาในการทำไพรมารีโหวตก่อนการเลือกตั้งเหลือน้อยมาก ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาทำไพรมารีโหวตกันเป็นปี แต่ไพรมารีโหวตเพื่อคัดเลือกตัวผู้สมัคร ส.ส.ของไทยให้เวลาน้อย การจะทำไพรมารีโหวตครบ 77 จังหวัดทันได้อย่างไร เพราะขณะนี้สมาชิกพรรคหาไม่ได้ สาขาพรรคก็ถูกยุบทิ้งไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/60 ขณะเดียวกัน บัตรเลือกตั้ง กล่องเลือกตั้งสำหรับการทำไพรมารีโหวตก็ให้แต่ละพรรคไปหากันเอาเอง ทั้งหมดถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ไหนจะค่าสถานที่อีก

แม้ว่าขั้นตอนของการทำไพรมารีโหวตของการเลือกตั้งครั้งแรกตามกฎหมายพรรคการเมือง จะระบุให้แต่ละจังหวัดสามารถใช้สมาชิก 51 คน จาก 100 คน ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้นๆ ก็สามารถทำได้ แต่ข้อจริงของการปฏิบัติ ถ้าสมาชิกต้องการมาใช้สิทธิไพรมารีโหวตกันมาก อาทิ พรรคประชาธิปไตยใหม่ มีสมาชิกอยู่ในจังหวัดสุโขทัยเกือบ 3,000 คน ถ้าทั้ง 3,000 คนต้องการมาใช้สิทธิ พรรคก็ห้ามไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาสถานที่รับรองให้เพียงพอ ทุกอย่างจึงเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการงดเว้นไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกที่กำลังจะมาถึงไปก่อน

ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอกลางวงหารือพรรคการเมืองเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สโมสรกองทัพบก โดยจะให้ทำไพรมารีโหวตเป็นรายภาคนั้น ผมคิดว่าเป็นศรีธนญชัยไปหน่อย อย่างภาคอีสาน 20 จังหวัด แต่ใช้ประชาชนเพียงไม่กี่คนมาคัดเลือกผู้สมัครทั้ง 20 จังหวัดทั้งภาคเช่นนี้ จึงเป็นเพียงการแสดงละคร เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมจริงๆ สู้ไม่ทำเลยดีกว่า

สำหรับข้อเสนอคลายไพรมารีโหวตออก โดยให้รัฐบาลทำเป็น 3 ทางให้พรรคเลือก 1.ทำไพรมารีโหวตเต็มรูปแบบ 2.ทำไพรมารีเป็นรายภาค และ 3.ให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัคร โดยให้ถือเป็นเรื่องภายใน พรรคไหนสะดวกแบบไหนให้ทำแบบนั้น พรรคประชาธิปไตยใหม่ไม่เห็นด้วย เพราะจะเกิดปัญหาจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน เพราะหลักการสำคัญของการเลือกตั้งจะต้องเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดไหนใหญ่ กลาง เล็ก เมื่อลงสนามเลือกตั้งถือว่าเท่าเทียมกันหมด อย่างการคลายล็อกก็ต้องทำพร้อมกัน รับสมัครสมาชิกได้พร้อมกัน แต่วันนี้พรรคใหม่สมารถขออนุญาตได้ แต่พรรคเก่าติดล็อกทำไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image