เสวนาดันแผนปฏิรูป กระจายอำนาจ-เลือกผู้ว่าฯ

หมายเหตุ – เสวนาปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ “การกระจายอำนาจ” โดยมีนายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบูรณ์ สุขสำราญ คณบดีสถาบันคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ม.รังสิต ร่วมเสวนา โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) กล่าวเปิดงานต้อนรับ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เป็นผู้นำการเสวนา


 

สุเทพ เทือกสุบรรณ
ประธานมูลนิธิ มปท.

มูลนิธิเกิดขึ้นเพื่อเข้ามาปฏิรูปในด้านต่างๆ ตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน โดยในปี 2556-2557 เราได้สรุปประเด็นตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิได้ 5 ด้าน คือ 1.ปฏิรูปการเมืองเพื่อให้เกิดการเมืองที่ดี เพื่อชาติและประชาชน ซึ่งก็เกิดเป็นรูปธรรมส่วนใหญ่โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การเมืองเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.ปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้ผล ซึ่งก็น้อยลง 3.ปฏิรูประบบราชการ ให้การบริหารราชการเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยต้องกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่จังหวัด ให้แต่ละท้องถิ่นเข้ามารับผิดชอบปกครอง บริหารบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความเจริญเท่าเทียมกัน 4.ปฏิรูปวิธีแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และ 5.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว รวมทั้งปฏิรูปตำรวจ ทั้งหมดเป็นความมุ่งหวังตั้งใจของมวลมหาประชาชน

Advertisement

 

พงศ์โพยม วาศภูติ
อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย

รัฐไทยใช่มิติเชิงอำนาจ ราษฎรอยากมีอยากเป็นจะต้องมาขอ รัฐไทยมุ่งช่วยเหลือประชาชนมากเกินไปหรือเปล่า จนเขาอ่อนแอไปหมด ทั้งนี้ ท้องถิ่นในปัจจุบันมีรูปแบบพิเศษอยู่ 2 ที่คือ กรุงเทพฯ และพัทยา นอกนั้นจะเป็น อบต.และเทศบาล มีบุคลากรประมาณ 5 แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งก่อนยุค คสช.นั้นจะมีงบเงินอุดหนุนพิเศษ เริ่มต้นประมาณพันกว่าล้านบาท แล้วก็เติบโตเป็น 2.8 หมื่นล้านบาท มีเงินทอนตรงนี้ค่อนข้างเยอะ จนอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่ได้อยู่ประเทศไทยแล้วก็เพราะบาปกรรมจากเงินก้อนนี้ ส่วนนักการเมืองเมื่อชนะการเลือกตั้งเข้ามาแล้วแทนที่จะกระจายอำนาจก็กลับหวงอำนาจเพราะเสียดายงบประมาณที่จะต้องกระจายออกไป ดังนั้น หากอยากจะเห็นประชาชนเข้มแข็งต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกรูปแบบ แล้วลดการกำกับดูแลของส่วนราชการลง ซึ่งจะเป็นหนทางที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนได้นอกจากแค่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว


 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.

ผู้ว่าราชการจังหวัดของเราถึงจะเป็นคนที่เก่งมาก แต่ก็ถูกย้ายได้ง่ายมาก อาจจะมีการบอกว่าเพราะเก่งเลยย้ายไปจังหวัดที่เล็กลงบ้างเพื่อไปพัฒนาจังหวัดนั้น แต่ปกติแล้วเขาจะต้องย้ายจากผู้ว่าราชการจังหวัดไปเป็นระดับอธิบดี ดังนั้น การปฏิรูปเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาได้มักจะเข้าใจผิดว่าเพราะมีนายกฯ มีรัฐมนตรี หรือมีประธานาธิบดีที่เก่ง แต่จริงๆ แล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาหรือจีน คนที่เป็นประธานาธิบดีก็ยังต้องผ่านการเป็นผู้ว่าฯมลรัฐหรือผู้ว่าการมณฑลที่มีความสามารถมาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้น เราต้องกล้าทำเรื่องที่ยาก ส่วนตัวอยากให้จังหวัดมีสถานะคล้ายๆ กึ่งส่วนกลาง กึ่งท้องถิ่น แต่ขึ้นอยู่กับนายกฯ โดยตรงและมีสถานะเทียบเท่ากับรัฐมนตรีช่วยด้วย โดยจะต้องประชุมร่วมกับนายกฯเดือนละครั้ง


 

สมบูรณ์ สุขสำราญ
คณบดีสถาบันคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ม.รังสิต

การรัฐประหารแต่ละครั้งทำให้ท้องถิ่นต้องหยุดชะงัก การปฏิวัติทำให้เสียเวลาการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปไม่น้อยกว่า 40 ปี เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งใหญ่ก็ไม่มีใครอยากเสี่ยงเพราะกลัวว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดความวุ่นวาย ทำให้ท้องถิ่นถูกละเลย ทั้งนี้ ท้องถิ่นต้องควบรวม อาจทำให้เป็นเทศบาลที่ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง ต้องไล่บี้กระทรวง ทบวง กรมรีบถ่ายโอนงานให้ท้องถิ่น อย่าหวงอำนาจ แต่ปัญหาคือจะทำได้หรือไม่ ดังนั้นหากจะทำต้องหาพันธมิตรการเมือง คุยกันว่านี่เป็นปัญหาบ้านเมืองต้องช่วยกัน ส่วนด้านล่างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน จะทำต้องรีบทำ ไม่ต้องปรึกษาชาวบ้าน


 

จรัส สุวรรณมาลา
อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ประเทศไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจที่เข้มข้น เป็นต้นเหตุให้การบริหารจัดการของรัฐล้มเหลว เกิดวงจรอุบาทว์เพราะเงินมากองอยู่ที่ส่วนกลาง และไม่ปล่อยงบมาถึงประชาชน หากไม่มีการแก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ จะทำให้ประเทศไม่สามารถก้าวหน้าและข้ามกับดักนี้ไปได้ หลายจังหวัดเป็นเมืองใหญ่แต่เหมือนคนพิการ มีปัญหาเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ไม่สามารถพัฒนาไปได้เพราะต้องรอแต่ส่วนกลาง ขณะที่นโยบายของทุกพรรคการเมืองที่ผ่านมาเป็นแพคเกจเดียว ไม่มีพรรคการเมืองใดที่คำนึงถึงความแตกต่างของปัญหาในพื้นที่ จึงมีแต่นโยบายรวมที่ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะท้องที่ได้ เสมือนกับทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องกินยาชุดเดียวกันทั้งที่ไม่ถูกโรค ดังนั้น ข้อเสนอของการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ คือจะต้องยกฐานะจังหวัดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัดให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จัดแบ่งพื้นที่การปกครองในจังหวัดให้อยู่ในรูปของเทศบาล จัดระบบงบประมาณการเงินการคลังให้ก้าวหน้า มีความยืดหยุ่นสูง ให้จังหวัดและเทศบาลสามารถจัดสรรเงินงบประมาณกันในเองในจังหวัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนการดำเนินงานในโครงการต่างๆ คาดว่าจะสามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 15,600 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปี

มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนักบริหารมืออาชีพ โดยช่วงแรกกำหนดให้มีการสรรหาและแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่วางรากฐานการบริหารงานของจังหวัดให้เป็นระบบและเข้มแข็ง ทั้งนี้ ช่วงแรกจะมีการสรรหาผู้ว่าราชการจังหวัดมาวางโครงสร้างให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมีวาระการทำงาน 4 ปี โดยจะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้มีตำแหน่งฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ และสามารถถอดถอนได้หากพบว่ากระทำผิด ขอยกตัวอย่างว่าการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นนั้นดีกว่าการปกครองโดยส่วนกลาง เช่นการแก้ปัญหาที่ถ้ำหลวงนางนอน ที่จังหวัดเชียงราย กรณี 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ติดถ้ำ ผู้ว่าฯเชียงรายที่มีอำนาจของตัวเองสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาลกลาง

การกระจายอำนาจดีกว่ารูปแบบการปกครองแบบเดิม อย่างเช่นลดความซ้ำซ้อนโครงการสร้างอำนาจต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะลดจำนวนเจ้าหน้าที่รัฐ ปีละ 470-700 คนต่อจังหวัดต่อปี และงบประมาณ 15,600 ล้านบาทต่อจังหวัดต่อปีอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาจังหวัดได้ดีขึ้นและรู้สภาพของปัญหาต่างๆ ได้ตรงเป้าหมาย โดยมีภารกิจที่จะต้องแยกออกมาให้จังหวัดบริหารเอง อาทิ การศึกษา ตำรวจ ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ เป็นต้น ส่วนจะผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นรูปธรรมจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นเจ้าภาพ ซึ่งพรรค รปช.อาจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จึงค่อยไปหาแนวร่วมและพรรคพันธมิตรร่วมผลักดัน ที่ต้องเข้มข้นเพราะที่ผ่านมา 20 ปีใช้วิธีแบบประนีประนอมแล้วไปไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image