ร่วมถอดบทเรียน ภารกิจช่วย‘13หมูป่า’

หมายเหตุ – ต่อไปนี้เป็นสรุปการบรรยายผลการปฏิบัติงาน ปัญหา ข้อเสนอแนะ ถอดบทเรียนการช่วยเหลือ “13 ชีวิตหมูป่า อะคาเดมี่” ณ ถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหตุเกิด 23 มิ.ย.-10 ก.ค. 2561 เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในอนาคต โดยหลายหน่วยงานที่มีส่วนร่วมช่วยเหลือเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ระบบการจัดการบริหารเหตุการณ์วิกฤต” จัดโดยหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ที่ค่ายสมเด็จพระนารยณ์มหาราช จ.ลพบุรี เมื่อ 24 ก.ค.

พล.ท.สุนัย ประภูชะเนย์
ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

สุนัย ประภูชะเนย์

การสัมมนาในครั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีนโยบายให้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อนำบทเรียนจากการปฏิบัติภารกิจกู้ภัยค้นหาและช่วยเหลือที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย พร้อมเชิญผู้แทนหน่วยต่างๆ แต่ละหน่วยที่ได้ไปปฏิบัติงานกันหลายหน่วยด้วยกัน อาทิ กองทัพบก กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หน่วยกู้ภัยต่างๆ และหน่วยกู้ภัยทางเรือด้วยเข้าร่วมสัมมนา สิ่งที่ต้องการที่ต้องรับรู้ในวันนี้เรื่องของกฎหมาย ที่ผ่านมามีปัญหาติดขัดตรงไหนบ้าง ขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนเตรียมการ และขั้นตอนฟื้นฟู ทั้ง 3 ขั้นตอนนี้จะต้องมีการปฏิบัติการร่วมกันตลอดเวลา

การปฏิบัติงานที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานก็จะมีมุมมองต่างๆ กันไป ทั้งไทยและต่างประเทศ สำหรับของต่างประเทศนั้นจะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยกว่าของไทย เราก็ได้นำมาประยุกต์ ส่วนเรื่องฐานข้อมูลที่มีระบบในการปฏิบัติงานร่วมกันในเหตุการณ์ครั้งนั้นเราก็จะนำฐานข้อมูลตัวนี้นำมาเก็บไว้ในระบบ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน ยามมีเหตุการณ์เช่นนี้อีกหรือเหตุการณ์ต่างๆ ในครั้งหน้าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะก็จะมีฐานข้อมูล เพื่อจะได้ประสานขอความร่วมมือมาร่วมกันอีก ไม่ว่าหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศแต่ละประเทศมีอุปกรณ์ช่วยเหลือชนิดใดก็ตาม จะได้ขอประสานมาช่วยเหลือกันได้ทันท่วงที

Advertisement

ต่อไปในอนาคตอาจมีการจัดสัมมนาเช่นนี้ตามจังหวัดใหญ่ขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเฝ้าระวังภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ หรือแม้แต่การป้องกันภัยการก่อการร้ายสากล

น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์
ผู้บัญชาการกรมรบพิเศษ 1 หน่วยซีล

อนันต์ สุราวรรณ์

ภารกิจการค้นหาทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิตที่ผ่านมาถือว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงอย่างหนึ่งในการทำงาน เพราะไม่อาจทราบว่าระดับน้ำภายในถ้ำมีมากน้อยขนาดไหน รวมถึงสภาพแวดล้อมในถ้ำยังมีอากาศหนาวและมืด ประกอบกับกระเเสน้ำที่ไหลเชี่ยวเเละระดับน้ำฝนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น้ำมีสภาพขุ่นเป็นโคลน การดำเนินการทั้งหมดไม่สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำได้ การปฏิบัติภารกิจจึงต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

Advertisement

เชื่อว่าประเทศไทยมีการกู้ภัยภายในถ้ำหลวงเป็นครั้งเเรก โดยหน่วยซีลและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติการสามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ และได้มีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการทำงาน

ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อภารกิจมีหลายด้าน ในบางครั้งที่ได้รับอุปกรณ์ช่วยเหลือเข้ามา กลับไม่ถูกนำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากความไม่เหมาะสมกับภารกิจ และการคัดกรองบุคคลที่เข้าปฏิบัติงานไม่ได้มีตามความสามารถจริง เนื่องจากผู้ที่วางแผนการดำเนินงานไม่ได้เห็นพื้นที่จริง ทำให้แผนงานที่ออกมาไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาในช่วงแรกมีความล่าช้า ต้องคอยตามแก้ปัญหาตลอด

แต่ทุกคนก็ได้รับประสบการณ์จากการทำงานภารกิจนี้เป็นอย่างมาก ความท้าทายคือสภาพเเวดล้อมภายในถ้ำที่มีหินย้อยเป็นอุปสรรคในการเดินทางไปยังบริเวณเนินนมสาวที่ทั้ง 13 ชีวิตหมูป่าอยู่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องข้อมูลที่รั่วไหล ทั้งจากตัวสื่อมวลชนเอง กระทั่งคนในที่ไม่รักษาความลับ ข่าวที่ออกไปบางครั้งอาจไม่เป็นความจริง ทำให้ประชาชนที่รับข้อมูลไม่ถูกต้องเเละกลับมาโจมตีผู้ปฏิบัติงานได้ เราได้บทเรียนในภารกิจนี้ คือ การบริหารในส่วนงานต่างๆ หรือการทำงานเป็นทีมต้องมีความพร้อมในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างมาก

พล.ต.สายัณห์ เมืองศรี
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 34

สายัณห์ เมืองศรี

ศัตรูในทางทหารของงานนี้มีอย่างเดียวคือน้ำภายในถ้ำ การวิเคราะห์โครงสร้างถ้ำของทีมขุดเจาะภายหลังจากการสำรวจร่วมงานกันหลายฝ่าย และได้นำตัวอย่างเนื้อดินทรายจากในถ้ำมาวิเคราะห์ พบว่ามีลักษณะเป็นตะกอนที่พัดพามาจากน้ำ สันนิษฐานได้ว่า ปากทางของถ้ำหลวงเป็นทางออกน้ำตามธรรมชาติอยู่แล้ว เนื่องจากน้ำที่เอ่อล้นได้พัดพาทรายที่อยู่ใต้โพรงออกมา เป็นการยืนยันสมมุติฐานที่ว่าโพรงนี้เป็นโพรงน้ำไหลผ่านซ้อนอยู่กับห้วยที่อยู่ใต้กิ่วคอเขานางนอน

ในส่วนของการดำเนินการค้นหาปล่องโพรงจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารเป็นหลัก โดยมีชุดกู้ภัยเป็นกำลังสมทบพร้อมด้วยเครื่องมือพิเศษ หากพบว่าปล่องใดที่จะนำไปสู่ถ้ำได้จะดำเนินการสำรวจและขุดเจาะภายใน 24 ชม. การสำรวจค้นหานั้นใช้ข้อมูลจากดาวเทียมของ GISDA และของที่อื่นๆ โดยพบปล่องโพรงหมดทั้งสิ้น 109 ปล่อง มีความลึกเฉลี่ย 50-100 เมตร ปล่องที่มีความลึกที่สุดอยู่ทางทิศใต้ มีความลึกถึง 600 เมตร แต่ลงไปไม่ถึงตัวถ้ำ และพบเป็นแอ่งน้ำ

บทเรียนแรกในระดับนโยบายที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ คือ การจัดทำตัวแบบโครงสร้างของผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย หรือ ศอร. หรือตัวแบบของกองบัญชาการกระทรวงมหาดไทย นับตั้งแต่วันแรกที่ผมไปถึงจนกระทั่งวันที่ 30 มิถุนายน ยังไม่มีความชัดเจน เช่นเดียวกับโครงสร้างทางทหาร จึงไม่มั่นใจว่าจะรับขีดความสามารถของทีมผู้เชี่ยวชาญที่ตามมาสมทบจากหน่วยงานอื่นได้หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐมองข้ามไป จึงขอเสนอให้มีการประชุมร่วมกันอีกด้วย

สมศักดิ์ คณาคำ
นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย

สมศักดิ์ คณาคำ

ในฐานะนายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ขอกล่าวถึงหน้าที่ในการทำงานของ อ.แม่สายตั้งแต่ต้นในภารกิจช่วยเหลือ 13 หมูป่าติดถ้ำ ตั้งแต่เกิดเหตุในพื้นที่เรารับทราบว่าเหตุการณ์เกิดตอน 5 โมง (23 มิ.ย.61) ทางอำเภอได้รับแจ้งตอนประมาณสี่ทุ่ม นาทีนั้นเราได้ระดมพลเข้าช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนใน อ.แม่สาย รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง จ.เชียงราย แต่เมื่อรุดหน้าเข้าไปถึงปากถ้ำก็เกิดฝนตกจนน้ำท่วมเข้าไปในถ้ำ เป็นต้นเหตุให้เด็กติดถ้ำ

ตอนแรกที่ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เราคิดว่าลำพังแค่นักประดาน้ำจากเชียงใหม่และลำปางที่มีความเชี่ยวชาญในการดำน้ำอยู่แล้วก็น่าจะสามารถดำน้ำเข้าไปได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปได้ ระหว่างนั้นได้ติดต่อกับหน่วยซีลและหน่วยงานอื่นๆ หลังจากที่อดีตผู้ว่าฯเชียงราย (นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร) ได้ตั้งศูนย์อำนวยการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย หรือ ศอร.

ในส่วนของตัวผมเองก็ได้แบ่งหน้าที่เป็น 2 ส่วนของ อ.แม่สาย ส่วนแรกคือจัดเตรียมปลัดอำเภอ 6 คนทำหน้าที่ฝ่ายประสานงานดำเนินการสนับสนุนทุกภาคส่วน อาทิ หน้าที่รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัด หน้าที่รับประสานงานกับฝ่าย ปภ.ส่งเสริมอุปกรณ์สนับสนุน โดยอุปกรณ์ต่างๆ ทางเราต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปเคาะประตูบ้านชาวบ้าน เพื่อซื้อของจากชาวบ้าน

เรายังมีฝ่ายที่คอยดูแลให้กำลังใจพ่อแม่เด็ก เช่น เรื่องการหลบหนีสื่อ การพาผู้ปกครองที่มีภาวะเครียดเข้า รพ. อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องจิตอาสาทั้งการเก็บขยะและการกินอยู่ และยังมีฝ่ายประสานงานในถ้ำ สุดท้ายคือฝ่ายประสานงานรับโทรศัพท์ ไม่ว่าจะมีหน่วยไหนร้องขอสิ่งใด เราก็จะประสานงานเพื่อสนับสนุนให้ นั่นคือส่วนของหน้างานที่เราได้ให้การสนับสนุน

อีกส่วนหนึ่งเราให้ประสานงานอยู่ที่สำนักงานในอำเภอ หน้าที่หลักคือการรับของบริจาคจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ คนที่เข้าไปปฏิบัติงานหน้าถ้ำหลวง คาดการณ์ว่ามีประมาณ 6,000-8,000 คน เราจึงต้องสนับสนุนอาหารข้าวกล่องให้เพียงพอมื้อละ 5,000 กล่องเป็นอย่างน้อย ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. ไม่ให้มีขาดตกบกพร่อง ทั้งหมดนี้ผมต้องบริหารจัดการและแยกออกเป็น 2 ส่วนอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการบูรณะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภายใน อ.แม่สายหลังการช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตหมูป่าเสร็จสิ้น จากตัวเลขหมู่บ้านทั้ง 4 ตำบล พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบความเสียหายยอมให้สูบน้ำจากถ้ำลงที่นาทั้งหมด 227 ราย รวมเป็น 1,266 ไร่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ให้การช่วยเหลือในเรื่องของการแจกเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งเมื่อช่วยเหลือเด็กออกมาแล้ว ก็มีการทำจิตอาสาเพื่อบูรณะพื้นที่เป้าหมาย ปรากฏว่ามีการหลั่งไหลมาสมัครมากมายกว่า 15,000 ราย แต่ตอนนี้ภารกิจของเราก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นดี คาดหวังว่าจะทำให้สำเร็จได้ลุล่วง และช่วยเหลือบรรเทาได้ครบทุกฝ่ายต่อไป

ชัยพฤกษ์ วีระวงศ์

ชัยพฤกษ์ วีระวงศ์
หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง

สิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่จากภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่าครั้งนี้ เป็นการปฏิบัติงานที่มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะความแตกต่างทางด้านพื้นที่ไม่เหมือนกับถ้ำทางภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นใน จ.สตูล ตรัง หรือกระบี่ เป็นถ้ำทะเลที่มีผนังหินที่แข็งแรง สามารถใช้มือและเท้าเปล่าไต่ขึ้นลงได้ แต่ที่ถ้ำหลวงเป็นหินที่หลุดออกจากกันได้ อาจหล่นใส่หัว หรือเหยียบแล้วร่วงตกลงไป นอกจากนี้ ที่ตั้งของถ้ำหลวงยังมีสภาพเป็นป่าดิบชื้นซึ่งมีความชื้นสูง ทำให้ยิ่งลงไปลึกอากาศจะยิ่งหนาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image