จุดประกายสหกรณ์เกษตร แกนหลักเคลื่อนฐานราก

หมายเหตุ – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเรื่อง “การปรับโครงสร้างภาคเกษตรด้วยกลไกสหกรณ์” จัดโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่มีตัวแทนภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร เข้ารับฟัง 1,850 คน ที่หอประชุมกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

การดำเนินนโยบายของรัฐบาลในหลายโครงการ จำเป็นต้องใช้กลไกของสหกรณ์เข้ามาดำเนินการ ทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เบื้องต้นกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจประสบผลสำเร็จ มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานในการบริหารจัดการในระดับดีเด่น จำนวน 777 แห่ง พร้อมผลักดันให้สหกรณ์เหล่านี้เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ ต่อยอดนโยบายของรัฐบาล

ในส่วนของสหกรณ์ภาคการเกษตรได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ 1.รัฐบาลได้จัดสรรเงินอุดหนุนจากงบกลางปี 2561 ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวม และแปรรูปผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ โดยสร้างฉาง โกดัง เพื่อเก็บชะลอสินค้าเกษตรหลักก่อนทยอยสู่ตลาด อาทิ ข้าว, ข้าวโพด และยางพารา ไม่น้อยกว่า 900,000 ตัน 2.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวปีการผลิต 2561/62 ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก การช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว และปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ปลูกข้าวนาปี วงเงินหมุนเวียน 22,560 ล้านบาท โดยเก็บผลผลิตไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรและให้ธนาคารเพื่อการเกษตรกและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อ เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกในพื้นที่ปลูกข้าวทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประมาณ 2 ล้านตันข้าวเปลือก สร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินหมุนเวียน 12,500 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวเปลือกได้ราคาที่สูงขึ้น

Advertisement

3.การส่งเสริมปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เบื้องต้นจะทดลองให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ใน จ.อุตรดิตถ์ ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ 3 พันไร่ คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ 4.การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขยายช่องทางตลาดสินค้าการเกษตร ที่ผ่านมาได้มีการลงนามข้อตกลงซื้อขายผลผลิตการเกษตรระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้า กับห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ส่งออก และเครือข่ายสหกรณ์ต่างๆ อาทิ การลงนามซื้อข้าวหอมมะลิของสหกรณ์ในพื้นที่ภาคอีสานกับห้างเทสโก้ โลตัส ภายใต้โครงการข้าวประชารัฐ โดยการรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง และโรงสีเอกชน 100% จากเกษตรใน 4 จังหวัดภาคอีสานอีก 7,000 ตัน ข้าวกล้องหอมมะลิ 100% ข้าวไรซ์เบอร์รี่ บรรจุถุงภายใต้แบรนด์เทสโก้ รวม 2,000 ตัน วางจำหน่ายภายในห้างเทสโก้ โลตัสทั่วไป เป็นต้น

อยากให้เริ่มต้นจากทุกภาคส่วน แรกเริ่มการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการพัฒนาเกษตรอย่างแท้จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า มีสหกรณ์บางแห่งที่ไม่สามารถแสดงผลงานออกมาได้ บางแห่งมีหนี้สินที่ไม่สามารถแก้ไขได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ภาพพจน์ของสหกรณ์อ่อนแอลงไป คนส่วนใหญ่ในสังคมมองข้ามความสำคัญของสหกรณ์ เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เพียงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันพลิกโฉมสหกรณ์ของคนไทยให้เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญทำให้ภาคเกษตรของไทยดีขึ้น

สหกรณ์การเกษตรของไทยมีอยู่ประมาณ 4,000 แห่ง โดยกลุ่มที่เชิญมาในวันนี้ เรียกว่าเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งพอสมควรแล้ว เป็นกลุ่มแห่งความหวัง เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังอ่อนแออยู่ หากทำเพียงคนเดียวไม่มีทางสำเร็จแน่ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำให้ดี ให้ทันสมัย เชื่อว่าจะเป็นตัวอย่างให้คนอื่นได้มาทำตาม ระหว่างนี้ทางสหกรณ์มีอะไรให้รัฐบาลช่วยก็ยินดีช่วยเต็มที่่ แต่ถ้าพบสหกรณ์ที่ไร้ประสิทธิภาพ อาจจะต้องทำการยุบทิ้ง

Advertisement

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น จีดีพีในครึ่งปีแรก 2561 เติบโตประมาณ 4.5% ความมั่นใจทางเศรษฐกิจในวันนี้กำลังกลับมา ทำให้ทั่วโลกต้อนรับไทยมากขึ้น คาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ ความเจริญกำลังมาสู่เอเชีย เป็นการเชื่อมโยงระหว่างตะวันตกและตะวันออก โดยผ่านอาเซียนในกลุ่ม 5 ประเทศของอาเซียน ไทย ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ทั้งเรื่องจุดที่ตั้งของประเทศ ศักยภาพการผลิต คุณภาพของบุคลากร เมื่อความเจริญมาสู่เอเชีย จุดศูนย์กลางจึงไม่ใช่จีน อินเดีย แต่อยู่ใน 5 ประเทศดังกล่าว แต่ประเทศไทยถือว่าเป็นทั้งตลาดแรงงาน แหล่งวัตถุดิบตลอดซัพพลายเชน (supply chain) เกือบทุกอย่างของเอเชีย เมื่อโอกาสกำลังจะมาในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ทุกภาคส่วนต้องต้องเตรียมพร้อมตั้งรับให้ดี และอย่าให้อะไรมาบั่นทอนความเชื่อมั่น

ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ อย่าคิดว่ารัฐบาลแค่ให้ความช่วยเหลือ แต่โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ส่งเสริมไปเพราะต้องการช่วยบรรเทาให้เกษตรกรดำรงชีพอยู่ได้ หากถามว่าทำไมราคาข้าวต้องดี เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว แต่ราคามันตก แต่ในปีนี้ราคาข้าวสูงถึง 17,000-18,000 บาทต่อตัน และกลไกตลาดไม่ถูกบิดเบือนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้สามารถช่วยชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ชาวนาไม่มีระบบสวัสดิการ จึงคิดโครงการสวัสดิการประชารัฐ สร้างบัตรสวัสดิการขึ้นมา เพื่อให้คนมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ได้มีสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุน และใช้ชีวิตประจำวันได้ ในปีนี้ ธ.ก.ส.ได้พักหนี้ให้แก่เกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. และกำลังพิจารณาพักหนี้สหกรณ์ด้วย อนาคตของเกษตรกรไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรรายย่อย แต่ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหกรณ์ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง เกษตรกรรายย่อยจะไปได้ดี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องช่วยกันชี้เป้าว่า แต่ละพื้นที่ปลูกอะไรได้บ้าง ปลูกในปริมาณเท่าไร และให้สหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการผลผลิตและหาตลาดจัดจำหน่าย คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องมีกลุ่มคนที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงและเริ่มสิ่งใหม่ ซึ่งก็คือสหกรณ์ที่มาวันนี้ ต้องพัฒนาสมาชิกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ค้นหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนา หาองค์ความรู้มาช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ต้องกล้าแสวงหาโอกาสใหม่ๆ

ธ.ก.ส.ต้องเข้ามาช่วยร่วมมือกับสหกรณ์และหอการค้า มาประชุมวางแนวทางร่วมกันเพื่อปฏิรูปการเกษตรอย่างจริงจัง การปฏิรูปไม่ใช่แค่การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ แต่ต้องแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย เอาเทคโนโลยีมาใช้และเรียนรู้ด้านการตลาดค้าขายผ่านเว็บไซต์ ผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ หรือร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ มาร่วมกับสหกรณ์ในการสร้างตลาด บางสหกรณ์มีสมาชิกเป็นหมื่นคน สหกรณ์ควรสร้างเว็บไซต์ขายสินค้า หรือจับมือกับไปรษณีย์จัดส่งสินค้าสหกรณ์ถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ นี่คือทิศทางใหม่ที่สหกรณ์ต้องทำ

สิ่งเหล่านี้ชาวนาไม่รู้ แต่สหกรณ์ต้องไปสื่อสารกับเกษตรกรว่า โลกยุคใหม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น จะต้องพัฒนาให้คนยอมรับ เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยี การพัฒนาก็จะไม่ก้าวหน้า การแปรรูปก็จะไม่ได้สิ่งที่ตลาดต้องการ ประเทศญี่ปุ่นมีสหกรณ์ที่เจริญก้าวหน้ามาก มีการผลิตเกษตรนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา โดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า ในส่วนของการขายสหกรณ์ญี่ปุ่นมีเว็บไซต์ค้าขายกับทุกประเทศในโลก

ขณะนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยสนับสนุนสหกรณ์สร้างเว็บไซต์ขายสินค้า ระบบโลจิสติกส์ต้องมีการพัฒนา โดยบริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม มีหน้าที่เข้ามาช่วยเรื่องดิจิทัล การประสานงานระหว่างกระทรวงต้องเกิดขึ้น สหกรณ์ทั้งหมด 4,000 แห่งต้องสามารถค้าขายผ่านเว็บไซต์ได้

นี่คือหลักการปฏิรูปโครงสร้างภาคการเกษตรของประเทศ อย่ามองตัวเองว่าเป็นองค์กรที่มีปัญหา แต่ต้องมองว่าสหกรณ์เป็นองค์กรทางเศรษฐกิจของประเทศและมีความสำคัญ ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมจะเข้ามาสนับสนุน ผมเหลือเวลาอีก 7 เดือน ใน 7 เดือนจะทุ่มเทให้องค์กรนี้เดินไปให้ได้ และจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image