เสียงสะท้อนนักวิชาการ จากไพรมารีฯสู่กก.สรรหา

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการกรณีที่จะปรับไพรมารีโหวตตามข้อเสนอเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้ทุกพรรคมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 7 คน และสมาชิกพรรค 4 คน เพื่อไปคุยกับสมาชิกแต่ละเขต ก่อนรวบรวมรายชื่อมาจัดทำเป็นบัญชี เพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณาคัดเลือกลงชิง ส.ส.


 

 

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ปัญหาตอนนี้อยู่ที่การแบ่งเขตการเลือกตั้ง ส่วนไพรมารีโหวตถ้าโหวตกันเองในพรรคก็ถือว่า รับได้ระดับหนึ่ง แต่ไพรมารีโหวตมีหลายโมเดล บางที่ก็ให้ประชาชนเข้ามาร่วมโหวต แต่บางที่ก็โหวตกันเองเป็นการสู้กันระหว่างกองเชียร์ในพรรค เช่น แบบของอเมริกา ถึงที่สุดถ้าจะเอาระบบไพรมารีโหวตให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้แทนพรรค แต่ถามจริงๆ ว่าเมื่อการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่ออก ระดับปาร์ตี้ลิสต์ก็ยังไม่ได้จัด แล้วระบบจะยึดอะไรเป็นหลัก

ส่วนทางเลือกอื่นนอกเหนือจากข้อเสนอไพรมารีของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่วิธีการว่าถ้าเปลี่ยนไปทำไพรมารีระดับภาคแล้วจะดีขึ้น ถ้าแบ่งย่อยการเลือกตั้งไพรมารีให้มากขึ้นอาจจะดีขึ้นก็ได้ แต่สุดท้ายยังต้องไปทำไพรมารีที่พรรคการเมือง แบบนี้ผมว่าไม่มีประโยชน์ เพราะจะเป็นระบบไหนแต่ถ้าคนไม่สามารถเข้าไปเลือกได้ก็ไม่มีประโยชน์ อย่างการบังคับให้คนไปเลือกที่พรรคการเมือง จึงอยู่ที่วิธีการมากกว่า

Advertisement

เมื่อถามว่ารูปแบบที่จะออกมานี้เป็นการปฏิรูปการเมืองแบบที่ คสช.ตั้งใจไว้หรือไม่ ผมว่าไม่ใช่การปฏิรูป สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรใหม่ขึ้นมาเลย แค่สร้างความยุ่งยาก ภายใต้การอ้างว่าเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน

ผศ.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ไพรมารีโหวตคือ การปล่อยให้ประชาชนสามารถตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะเลือกใครมาเป็นตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ แต่ถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญที่ระบุให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การมีคณะกรรมการสรรหาลงไปคุยในแต่ละพื้นที่แล้วนำรายชื่อมา แค่นี้ก็ถือว่ามีส่วนร่วม

แต่ถ้ายังใช้คำว่าการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะการเลือกตั้งขั้นต้นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ คนได้ไปตัดสินจริงๆ ว่าจะเลือกใคร ดังนั้นการสรรหานี้จึงเรียกได้เพียงว่า “กระบวนการคัดสรรผู้สมัครเบื้องต้น” อย่าเรียกว่าเป็นไพรมารีโหวต

Advertisement

จริงๆ แล้วกระบวนการแบบนี้ไม่ได้ต่างจากกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครในวิธีปฏิบัติของพรรคการเมืองก่อนหน้านี้มากสักเท่าไร คือมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเอารายชื่อมาพิจารณาเท่านั้น

การมีคณะกรรมการสรรหาลงไปรับฟังสมาชิกแต่ละพื้นที่ แล้วจะมองว่าเป็นการมีส่วนร่วมหรือไม่นั้น ถ้าตีความหมายอย่างกว้างว่า การมีส่วนร่วมคือไปรับฟังว่าอยากได้คนที่มีคุณสมบัติแบบไหน อย่างนี้ก็ถือว่ามีส่วนร่วม แต่ถ้าตีความหมายแคบลงว่าการมีส่วนร่วมคือ การได้ตัดสินใจด้วยตนเอง กระบวนการเช่นนี้ก็จะไม่เข้าตามความหมายนั้น

คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครมี 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 7 คน และสมาชิกพรรค 4 คน คำถามคือ ถ้าเราโหวตแบบประชาธิปไตย 7 คนส่วนกลาง ก็ชนะ 4 เสียงอยู่ดี ถ้าส่วนกลางรวมเสียงกันได้ แม้จะมีการเข้าไปรับฟัง แต่การตัดสินใจยังอยู่ที่คณะกรรมการชุดนี้อยู่ดี ไม่ได้อยู่ที่ประชาชนเป็นคนเลือก

กรณีทางเลือกที่จะทำไพรมารีโหวตระดับภาคก็ไม่ได้เห็นด้วย เพราะไพรมารีโหวตการตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนในเขตนั้น การมารวมเป็นระดับภาคก็เท่ากับว่าลดความเข้มข้นในการมีส่วนร่วมลง ควรต้องเป็นการตัดสินใจที่เขต หรืออย่างน้อยก็ในจังหวัดนั้น แต่ระดับภาคคิดว่าความเข้มข้นในการมีส่วนร่วมจะน้อย

การใช้วิธีการเช่นนี้แตกต่างจากเดิมบ้าง แต่ในท้ายที่สุด ภาพใหญ่ของความคาดหวังในการปฏิรูปหรือการเมืองแบบใหม่ก็อาจไม่ได้เป็นผลแบบนั้น ที่สำคัญคือการทำแบบนี้พรรคการเมืองที่เกิดใหม่อาจยังไม่มีความพร้อมเท่าพรรคการเมืองเก่าหรือพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของนักการเมืองหน้าเก่า

 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การนำไพรมารีโหวตในฉบับของ กรธ.กลับมาใช้นั้น มองว่าการมีคณะกรรมการของพรรคการเมืองลงไปรับฟังความคิดเห็นตามแนวคิดที่จะเอามาใช้ อาจจะยังไม่เรียกว่าเป็นไพรมารีโหวตได้เท่าไร เพราะว่ากระบวนการต่างๆ ไม่ใช่หลักการของการทำไพรมารีโหวต เพราะว่าไพรมารีโหวตหรือการเลือกตั้งขั้นต้นจะต้องเป็นลักษณะที่ให้ประชาชนในพื้นที่ไปลงคะแนน จะเป็นไพรมารีโหวตในระบบเปิด หมายถึงว่าให้ประชาชน ในเขตเลือกตั้งนั้นมีสิทธิที่จะไปลงได้หมด หรือจะเป็นไพรมารีโหวตในรูปแบบปิดคือ จำกัดเฉพาะสมาชิกพรรคก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นการตัดสินใจจากล่างขึ้นสู่บน ต้องผ่านกระบวนการไปลงคะแนนของคนในพื้นที่

การลงไปรับฟังความเห็นเช่นนี้คงไม่ใช่ลักษณะของไพรมารีโหวต แต่เป็นในรูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นมากกว่า

ส่วนในแง่ของการขัดกับรัฐธรรมนูญ คิดว่าอาจจะไม่ขัดเพราะว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนไว้อย่างกว้างๆ ว่าการที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน คำนึงการมีความเสมอภาค ทั้งในเรื่องเพศสภาพชายหญิงทั้งในเรื่องภูมิภาคต่างๆ เหล่านี้ให้มีความสมดุลกัน แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดวิธีการไว้ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ แต่บังเอิญใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันได้กำหนดเอาไว้ว่าให้ใช้ไพรมารีโหวตในระบบปิด ซึ่งตรงนี้อาจจะถูกแก้ไขด้วย มาตรา 44 ที่จะออกมาหลังจากนี้ ดังนั้นถ้าแก้ไขแล้วผมมองว่าโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญคงไม่มีเพราะไม่ได้กำหนดวิธีการไว้ แต่ในแง่ทางการเมืองคิดว่าวิธีการดังกล่าวยังไม่ใช่ไพรมารีโหวตจริงๆ เป็นเพียงแค่การรับฟังความเห็นเท่านั้น

การให้คณะกรรมการบริหารพรรคเลือกโดยตรงแบบเดิมนั้น ก็คงไม่ต่างกันมากนัก เพราะว่ากรรมการสรรหาของพรรคก็จะลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อไปรับฟังความคิดเห็นและนำรายชื่อของผู้ที่เหมาะสมจะลงสมัครในพื้นที่ต่างๆ มาเสนอให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เพราะฉะนั้นการตัดสินใจก็ยังอยู่กับกรรมการบริหารพรรคเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าอาจจะมีการรับฟังความคิดเห็นเข้ามาประกอบเท่านั้นเอง และถ้าผนวกกับระยะเวลาในการลงไปรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเท่าที่ติดตามข่าวดูเห็นว่าอยู่ที่ประมาณ 15-30 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้น เราจะเห็นว่าการลงไปรับฟังความคิดเห็นมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรม เหมือนกับไปฟังเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พรรคการเมืองก็อาจจะแบ่งหน้าที่ 11 คน กระจายกันไป ลงไปเช่าห้องโรงแรมแล้วก็ยกมือกัน 2-3 ที แล้วก็บอกว่าไปรับฟังความเห็นแล้ว เกรงว่าจะออกมาในรูปแบบนี้ ซึ่งถ้าออกมาในรูปแบบนี้สุดท้ายคนตัดสินใจจริงๆ ก็คือกรรมการบริหารพรรคหรือแกนนำพรรคไม่กี่คน ซึ่งก็มีรายชื่ออยู่ในใจหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็คงไม่ได้ต่างจากเดิมสักเท่าไหร่นัก

การตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรคยังมีสูงก็คงไม่ได้แตกต่างจากในอดีตมากนัก เพราะสุดท้ายกรรมการบริหารพรรคก็เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะส่งใครลงจากรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอมา เพียงแต่เพิ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

ผมเชื่อว่าสุดท้ายก็คงจะใกล้เคียงแบบเดิม ถ้าจะคลายล็อกให้การเลือกตั้งเดินหน้าได้ก็อาจจะจำเป็นที่ต้องใช้วิธีนี้ แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีไพรมารีโหวตเป็นสิ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความเป็นธรรมทางการเมืองและเป็นพรรคที่มีฐานมาจากมวลชน คนรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค คนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งจะเป็นการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คงจะทำได้ยาก พรรคการเมืองต่างๆ เขาก็สะท้อนปัญหามาว่าเคยทำไพรมารีโหวตแล้วก็เกิดปัญหา ซึ่งในพื้นที่อาจจะมีการล็อกโหวตต่างๆ ซึ่งในบางพื้นที่มีสมาชิกพรรคที่ไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นประเด็นนี้ก็อาจจะต้องมีการขยับเป็นบทเฉพาะกาลต่างๆ ว่าให้ไปใช้ และมีการปรับปรุงแก้ไขในเชิงเทคนิคในอนาคตให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนทางเลือกอื่น มองว่าถ้าทำไพรมารีระดับภาคก็เป็นทางเลือกที่่น่าสนใจ เพราะอย่างน้อยประชาชนได้มีสิทธิร่วมลงคะแนนในการเลือก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ เพราะว่าพอทำเป็นระดับภาคเสียงทั้งหมดต้องรวมกัน ในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถจะไปรู้จักคนข้ามจังหวัดหรือมีข้อมูลภูมิหลังที่ดีพอ แต่ก็คงดีกว่าการรับฟังความเห็น ซึ่งในเชิงเทคนิคผมก็ว่ามีปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในครั้งนี้ก็คงจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เท่านั้นเอง แต่คงไม่มีวิธีการไหนที่จะบอกว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งนี้

หากถามว่านี่เป็นรูปแบบการเมืองที่ คสช.คาดหวังไว้หรือไม่ การบอกว่า คสช.มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ที่ทำให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ผมว่าคงไม่มีอะไรบ่งชี้ได้ขนาดนั้นว่า คสช.จะเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เพราะว่าเรื่องไพรมารีโหวตนั้นก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเยอะ ทั้งการสนับสนุน การบอกว่าทำไพรมารีโหวตแบบเปิดดีกว่า หรือเสียงคัดค้านจากพรรคการเมืองที่เคยทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แล้วพบปัญหาก็มี จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสังคมค่อนข้างที่จะหลากหลาย

ดังนั้นผมคิดว่าคงไม่ได้เป็นสิ่งที่ คสช.อยากจะตั้งใจให้ออกมาในรูปแบบนี้แต่ผมคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ออกมาในรูปแบบนี้มากกว่า จากบรรดาข้อเสนอที่หลากหลายและ สนช.ก็ไปหยิบจับตรงนี้มาใส่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แต่พอถึงภาคปฏิบัติแล้วไม่สามารถจะทำได้อย่างที่กฎหมายกำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image