‘โกวิทย์ พวงงาม’ชำแหละ ความเหลื่อมล้ำสังคมไทย โดย : กุลนันทน์ ยอดเพ็ชร

หมายเหตุศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ถึงสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย รวมถึงข้อเสนอในแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

⦁นิยาม “ความเหลื่อมล้ำ”

ความเหลื่อมล้ำเป็นความไม่ทัดเทียม หรือเป็นช่องว่าง เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล ชุมชน สังคมในมิติต่างๆ เช่น รายได้ ที่ดินทำกิน การศึกษา สาธารณสุข เป็นต้น เมื่อเห็นสถิติตัวเลขแล้วจะพบว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีช่องว่างเรื่องการกระจายทรัพย์สินและรายได้มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ซึ่งน่าเป็นห่วง เราจึงต้องพยายามทำให้คนในสังคมไทยมีความเท่าเทียมกันในแต่ละมิติของการดำรงชีพ เช่น มีอาชีพ มีรายได้ที่เหมาะสม มีที่ทำกิน ได้รับบริการสาธารณสุขไม่แตกต่างกันมากนัก มีระบบการศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกัน เป็นต้น กระบวนการสร้างความเท่าเทียม (Equalization) รวมถึงลดช่องว่าง

กล่าวคือ ไม่ได้หมายความว่าต้องเท่าเทียมกันเป๊ะ แต่ขอให้ช่องว่างไม่ห่างกันมากนัก คิดว่ายุทธศาสตร์ชาติต้องตอบโจทย์เรื่องนี้ให้ได้ด้วยการสร้างโอกาส เช่น โอกาสเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาล ทำให้สัดส่วนระหว่างแพทย์ในชนบทกับแพทย์ในเมืองมีทัดเทียมกัน เพราะขณะที่สัดส่วนของแพทย์ต่อคนไข้ในเมืองหรือในกรุงเทพฯอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 2,000 คน แต่ต่างจังหวัดมีสัดส่วนอยู่ที่เกือบ 1 ต่อ 7,000-8,000 คน สะท้อนว่าโอกาสในการเข้าถึงบริการไม่เท่าเทียมกัน

Advertisement

นอกจากนี้ เรื่องที่ดินทำกิน ประเทศไทยมีคนถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 ไร่ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ 10% ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่

⦁ด้านใดของสังคมไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุด และด้านใดเหลื่อมล้ำน้อยลงในปัจจุบัน

การจะตอบว่าความเหลื่อมล้ำด้านใดดีที่สุดหรือแย่ที่สุด จำเป็นต้องไปดูเป็นรายมิติ เพราะบางคนมีโอกาสด้านสาธารณสุขแย่ บางคนมีโอกาสด้านการศึกษาแย่ บางคนมีโอกาสด้านรายได้แย่ ดังนั้น ต้องกลับไปดูตัวเลขของแต่ละด้าน เช่น คนจนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 4,000 บาท ขณะที่คนรวยมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 100,000 บาท แสดงว่าห่างกันกว่า 80,000 บาท ไม่สามารถไล่ทันกันได้เลย

Advertisement

หรือเมื่อดูภาวะหนี้สิน คนไทยมีหนี้สินมากกว่า 2 ล้านครัวเรือน ไม่มีที่ดินทำกินกว่า 700,000 ครัวเรือน อย่างไรก็ดี รายได้คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ต้องทำให้คนจัดการตัวเองให้ได้ในแต่ละเรื่อง เพราะบางคนมีเงิน 10,000 บาท อาจจะเพียงพอ เพราะเขามีที่ดิน มีพืชพันธุ์ธัญญาหารที่บ้าน

⦁กลไกสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลปัจจุบันตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือต้องปรับปรุงเรื่องใดบ้าง

รัฐต้องชัดเจนใน 4 เรื่อง คือ 1.สิทธิ 2.สวัสดิการที่ควรได้ 3.สวัสดิการพิเศษมากกว่าปกติ และ 4. กลไกเข้าไปช่วยเหลือในการลดความเหลื่อมล้ำ โดยภาพรวมของการลดความเหลื่อมล้ำคือต้องสร้างอีควล (Equal) และ ซับซิเดีย (Subsidiary) หมายถึงความเท่าเทียมและการจุนเจือคนอ่อนแอ ผมเรียนระดับปริญญาโทในปี พ.ศ.2525 ในเวลานั้นมีคนจนจำนวน 12 ล้านคน แต่การขึ้นทะเบียนคนจนที่ผ่านมาของรัฐบาล พบผู้ลงทะเบียนจำนวน 11.4 ล้านคน แสดงว่าการลดจำนวนคนจนยังไปไม่ถึงไหน ผมจึงเป็นห่วงนโยบายของรัฐว่าส่วนหนึ่งยังเข้าไม่ถึงผู้เปราะบาง และคิดเรื่องคนจนแบบเจเนอรัล (general) ทั้งที่คนมีความจนต่างกันแต่กลับได้รับสวัสดิการเหมือนกัน

กลไกในภาคราชการมีปัญหา เพราะฐานข้อมูลขนาดใหญ่ บิ๊กดาต้า (Big Data) ยังเข้าไม่ถึง บิ๊กดาต้าในความหมายของผมคือรัฐต้องไปทำข้อมูลกลุ่มเปราะบาง กลุ่มควรได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษหรือกลุ่มคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังทั้งหมด และแยกให้ชัดว่าความจนของแต่ละคนมีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้การพัฒนาทำได้ตรงเป้าหมาย เช่น บางคนเป็นคนจนประเภทไม่มีที่ดินทำกิน บางคนเป็นประเภทไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ บางคนสุขภาพแย่

ขณะที่กลไกรัฐอีกประการสามารถช่วยได้ คือ การออกกฎหมายที่ดินทำกิน หรือเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนที่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ รัฐยังมีจุดอ่อนเรื่องการชี้แจงสิทธิ สมมุติผมเป็นคนพิการ สิทธิของผมคืออะไร ผมเป็นคนไร้ที่พึ่ง สิทธิของผมคืออะไร รัฐอาจบอกว่าเคยชี้แจงเป็นหนังสือเป็นกฎหมาย แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพอและขอเสนอกลไกการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้าไปดูแลส่วนนี้

ที่สำคัญ ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับสวัสดิการแห่งรัฐบางประเภทที่ให้กับทุกคน เพราะแม้คนอ่อนแอจะได้รับการช่วยเหลือ แต่คนแข็งแรงบางกลุ่มไม่ควรรับสวัสดิการแห่งรัฐด้วย ผมคิดว่าสวัสดิการแห่งรัฐควรแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือสวัสดิการเพื่อทุกคนหรือ ฟอร์ ออล (for all) เช่น สวัสดิการการศึกษา ทุกคนเรียนฟรี 15 ปี หรือสวัสดิการสาธารณสุข ทุกคนได้รับประกันสุขภาพ

ประเภทที่สองคือสวัสดิการเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเปราะบาง เช่น คนพิการ ต้องแยกอีกว่าเป็นคนพิการประเภทใด พิการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือพิการพอช่วยเหลือตัวเองได้ จึงไม่เห็นด้วยกับการให้สวัสดิการแก่ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพราะผู้สูงอายุบางคนก็เป็นเถ้าแก่โรงสี ขี่รถเบนซ์ไปรับเงิน 600 บาท ขณะที่ 600 บาทสำหรับคนจนนั้นมีค่ามาก

การให้สวัสดิการแห่งรัฐควรให้เพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ ให้เขามีความทัดเทียมกับสังคมที่เขาดำรงชีวิตอยู่ แต่คนรวยหรือคนที่มีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ผมเรียกร้องให้เสียสละมากกว่า คนรวยมีความมั่นคงในชีวิตแล้ว แต่คนจนไม่มี ถ้าให้ความช่วยเหลือในจำนวนเท่ากันก็จะมีปัญหาเรื่องความสมดุลและยิ่งทำให้มีความเหลื่อมล้ำ

ขณะนี้เราเป็นห่วงว่าการทิ้งไว้ข้างหลังจะยิ่งทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ทำอย่างที่ผมเสนอมานี้ คนรวยในทุกประเทศมักตั้งคำถามว่า ทำไมเขาต้องเสียสละทั้งที่เขาก็จ่ายภาษี

ต้องคิดว่าเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียว ถ้าเราช่วยให้คนอื่นแข็งแรง เราก็อยู่ร่วมกับโลกได้อย่างสมดุล คนรวยต้องคิดว่าจะสร้างความสมดุลให้ส่วนรวมได้อย่างไร ถ้าคุณทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลัง เขาอาจกลายเป็นผู้ก่ออาชญากรรมหรือขอทาน เป็นสังคมที่ไม่พึงประสงค์

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องไปจำกัดสิทธิคนรวยว่าจะไม่สามารถรวยหรือมีทรัพย์สินมากขึ้น แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามที่สหประชาชาติหรือองค์กรทั้งหลายในโลกเรียกร้องนั้น คือการสร้างความสมดุลและความเท่าเทียม วิธีการสร้างสมดุลก็มีหลายแบบ คือ 1.รัฐทำเอง โดยอาจทำในเชิงกฎหมาย เชิงยุทธศาสตร์นโยบาย เช่น การให้คนเสียสละเสียภาษีมากขึ้น อาทิ ภาษีมรดก ในสังคมไทยยังทำไม่ได้ และ 2.เรียกร้องให้คนแข็งแรง คนมีภาวะความเป็นอยู่ที่ดี คนที่มีเหลือเฟือเหลือล้นให้ออกมาช่วยคนอ่อนแอกว่า ในสังคมที่เจริญ คนรวยในประเทศเขามีการก่อตั้งมูลนิธิ สมาคม ชมรม หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ รวมถึงเสียสละในสวัสดิการแห่งรัฐบางอย่าง เพื่อช่วยเหลือเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ

⦁ประเทศต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก ในอดีตเคยมีระบอบการปกครองแตกต่างกัน เยอรมนีตะวันตกได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าทุกด้าน ขณะที่เยอรมนีตะวันออกย่ำแย่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมชาติคือเยอรมนีตะวันออกไม่ทัดเทียมฝั่งตะวันตก ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และความเป็นอยู่ สิ่งที่เขาทำคือเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าจากคนเยอรมนีตะวันตกโดยได้รับความยินยอมจากคนเยอรมนีตะวันตกด้วย กระทั่งปัจจุบันเยอรมนีตะวันออกทัดเทียมกับฝั่งตะวันตกเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นอกจากการทำให้เกิด equal และ subsidiary แล้ว ตัวอย่างประเทศเยอรมนีทำให้เห็นว่ายังต้องปฏิรูปพลเมืองให้มีสำนึกความเป็นพลเมืองและเห็นใจผู้อื่นด้วย

ส่วนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศจีน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ใช้วิธีการโดยให้หน่วยงานท้องถิ่นไปสำรวจปัญหาและความยากจนในทุกมณฑลทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้ทราบปัญหาของแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง จากนั้นจึงจัดงบประมาณและวิธีการลงไปแก้ปัญหาให้ตรงกับแต่ละพื้นที่

ในขณะที่แนวคิดหนึ่งของคนไทยคือ ถ้าหมู่บ้านของคนอื่นได้เงิน หมู่บ้านของตัวก็ต้องได้เงินด้วย ทั้งที่แต่ละหมู่บ้านมีสถานะไม่เท่าเทียมกัน สมมุติหมู่ 1 เป็นเขตเศรษฐกิจ แต่หมู่ 2 ยากจน ทั้งสองหมู่บ้านได้เงินจากรัฐ ทำให้หมู่ 1 จากที่รวยอยู่แล้วก็รวยขึ้นไปอีก แต่ถ้าคิดแบบเยอรมนีคือเราต้องทุ่มเงินให้หมู่บ้านที่ 2 ไปเลย สังคมไทยปลูกฝังแนวคิดแบบนี้มาตลอด เราจึงเป็นสังคมไม่เท่าเทียม เพราะปลูกฝังความไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่ต้น

⦁บทบาทของงานสังคมสงเคราะห์ในการลดความเหลื่อมล้ำ

งานของสังคมสงเคราะห์คือต้องทำให้คนใช้ชีวิตอย่างสมดุลและพึ่งตนเองได้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ต้องชี้นำสังคมและผู้มีอำนาจรัฐในเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ และการช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่าให้มีชีวิตที่เท่าเทียมคนอื่น รวมถึงบอกรัฐบาลให้วางนโยบายจัดการตนเอง หรือเรียกว่า เซลฟ์ เฮลพ์ (self help) เช่น ผมมีหนี้แล้วลดหนี้ได้ หรือทำอย่างไรให้คนไม่ไปหาหมอ ด้วยการดูแลตัวเอง กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกาย

งานของสังคมสงเคราะห์ส่วนหนึ่งต้องร่วมมือกับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นรู้ว่าคนพิการอยู่ที่ไหน รวมถึงคิดนวัตกรรมเพื่อคนพิการ ผมเคยเจอคนพิการคนหนึ่งถูกรถชนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาเคยเป็นผู้นำสตรี แต่หลังจากถูกรถชนทำให้เขาทำอะไรไม่ได้เลย และอยากฆ่าตัวตาย

กระทั่งชุมชนของเขาสร้างคนแข็งแรงคืออาสาสมัครไปช่วย พาเขาไปทำกายภาพบำบัด และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คอยเยียวยาดูแล จนเขามีชีวิตที่ดี นี่คือการทำให้เขามีคุณค่า ทำให้เขาจัดการตัวเองได้ โดยคนแข็งแรงนั่นแหละไปจัดการ เป็นลักษณะของงานสังคมสงเคราะห์ที่ควรจะเป็น

ดังนั้น เราต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนที่แข็งแรงในสังคมให้ไปช่วยคนเปราะบางกว่า อาทิ อาสาสมัครที่เรียกว่า แคร์ กิฟเวอร์ (Care Giver) และเพราะงานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่ยากและละเอียดอ่อน คนจะทำงานด้านนี้จึงต้องมีใจที่เข้าใจคน เพราะเราทำงานกับคนประเภทเปราะบาง คนมีปัญหาครอบครัว มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาความยากจน

ดังนั้น งานสังคมสงเคราะห์มี 2 หน้า หน้าหนึ่งคือ สนับสนุนให้คนมีศักยภาพช่วยเหลือตนเองได้ อีกหน้าหนึ่งคือดึงคนแข็งแรงหรือมีมากพอแล้วให้เสียสละมาจุนเจือคนอ่อนแอกว่า จะเป็นการสร้างสังคมแห่งการเอื้ออาทร เป็นสังคมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้

⦁เป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำควรเกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรม

การลดความเหลื่อมล้ำของผม คือการทำให้ทุกคนมีความรู้สึกมั่นคงในชีวิตเท่ากัน ไม่ใช่แค่มีเงิน มีความรู้ หรือมีสุขภาพที่ดี ผมคิดว่าประเทศไทยกำลังจะหลงทาง แม้โดยภาพทางกายภาพรวมจะดูดีขึ้น กล่าวคือสุขภาพดีขึ้น มหาวิทยาลัยโตขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น แต่เรื่องจิตใจและความเหลื่อมล้ำกลับแย่ ความมั่นคงในชีวิตของคนถูกทิ้งไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ถ้าเป็นรัฐบาล ผมจะสร้างสังคมที่เท่าเทียมและทำให้คนจัดการตนเองได้ คนจนอยู่ที่ไหน กลุ่มเปราะบางอยู่ที่ไหน ผมไปช่วย รวมถึงกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแล ตอนนี้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังไปไม่เป็น แม้หลายเรื่องจะเห็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ความตั้งใจถ้าไม่ตรงจุดก็เสียเปล่า และเมื่อดูประเทศจีนใช้เวลาเปลี่ยนแปลงเรื่องความเหลื่อมล้ำประมาณ 20 ปี ประเทศเยอรมนีประมาณ 30 ปี ทำให้ผมยืนยันได้ว่าประเทศไทยต้องถูกเปลี่ยนด้วยการกระจาย
อำนาจเท่านั้น โครงสร้างแบบเดิมไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อีกแล้ว

กุลนันทน์ ยอดเพ็ชร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image