รายวันวิเคราะห์ : โฟกัส “การเมือง” ปัญหา รธน.- ประชามติ แก้ด้วย “การเมือง”

การเมืองไทย ณ วันนี้วนเวียนอยู่กับ หนึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และอีกหนึ่งคือการประชามติ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยมีปัญหาเรื่องลดความสำคัญของการเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับการสรรหาหรือแต่งตั้งมากขึ้น

ขณะที่การประชามติ ปัญหาอยู่ที่กฎหมายจัดทำประชามติ ที่มีลักษณะกีดกันมากกว่าเปิดกว้าง

ทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประชามติ มีปัญหากับการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

Advertisement

ปัญหานี้นำไปสู่การท้าทาย และผลการตอบโต้การท้าทาย มักลงเอยที่การใช้กฎหมาย

แต่ใช่ว่ากฎหมายจะใช้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด

บางทีการบังคับใช้กฎหมายอาจกลายเป็นปัญหาเสียเอง

Advertisement

โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง

ปัญหาเริ่มขึ้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญปรากฏต่อสายตาประชาชน หลังจากนั้นการแสดงความคิดเห็นก็เกิดขึ้น

การแสดงความคิดเห็นที่ปรากฏออกมาส่วนใหญ่คือไม่เห็นด้วย

กลุ่มการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง ไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลที่ให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรี

กระทั่งไม่เห็นด้วยทั้่งร่างที่ทำกันมา

กลุ่มการศึกษาไม่เห็นด้วยกับการตัดทอนสิทธิสนับสนุนการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

และที่กลายเป็นข่าวครึกโครมคือ กลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วย และรณรงค์โนโหวตอีกด้วย

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย

กลุ่มพลเมืองโต้กลับ และนักศึกษาที่เคยเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกควบคุมตัวในช่วงการรณรงค์

แล้วปล่อยตัวกลับ

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยโพสต์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทางสังคมออนไลน์ กระทั่งเจ้าหน้าที่ทหารไปรอถึงบ้าน

รอเพื่อเชิญตัวไปแจ้งข้อหา…ขัดคำสั่ง คสช.

การบังคับใช้กฎหมายเริ่มกลายเป็นข้อบัญญัติที่ห้ามมิให้ใครเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ

ยิ่งกฎหมายประชามติที่ออกมา จวบจนบัดนี้ก็ยังมีการตีความอยู่เนืองๆ

ตีความว่า หลังประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว เสียงคนในเมืองและชนบทจะต้องเงียบ

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า การรณรงค์ทุกอย่างทำไม่ได้

รับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญให้ไปลงโหวตวันที่ 7 สิงหาคม

ถ้ารณรงค์ก่อนวันที่ 7 สิงหาคม…มีสิทธิติดคุก 10 ปี

ปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญ และปัญหาของการประชามติจึงมีทิศทางเดียวกันคือ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่เมื่อมี “แรงกิริยา” มาก “แรงปฏิกิริยา” ก็มากตามมาด้วย

พร้อมๆ กับความเข้มงวดของ คสช. บรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้มงวดดังกล่าวก็ทยอยปรากฏตัว

นายวัฒนา เมืองสุข เป็นตัวอย่าง

กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ก็เป็นตัวอย่าง

และเมื่อ คสช. รักษาคำสั่ง คสช. ด้วยการควบคุมตัว นำไปปรับทัศนคติ แม้กระทั่งนำขึ้นศาลทหารในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.

ปฏิกิริยาที่ไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กรณีลูกสาวนายวัฒนา ตระเวนยื่นหนังสือกับทูตสหรัฐอเมริกา สามารถประโคมข่าวให้โลกได้ยิน

ความเคลื่อนไหวของลูกสาวนายวัฒนา ส่งผลกระทบเชิงสิทธิมนุษยชนสูง

ยิ่งมีคำขอร้องจาก “คุณตา” ให้ลูกสาวนายวัฒนาไปต่างประเทศสักพัก ยิ่งกระพือข่าว “กดดัน” ออกมา

วันนี้ และวันต่อไป ประเทศไทยจะต้องตอบคำถามต่างประเทศอีกคำรบ

เพราะต่างประเทศที่เคยสงบนิ่งเริ่มขยับเขยื้อนอีกครั้ง

ขยับออกมาถามหาสิทธิเสรีภาพของคนไทย

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงความจำเป็นที่ต้องกระทำเช่นนั้นว่า เนื่องเพราะต้องรักษากฎหมาย

แต่ดูเหมือนว่า กฎหมายในมุมมองของฝ่ายความมั่นคง กับมุมมองของฝ่ายมนุษยชนอาจจะไม่สอดคล้อง

คำสั่ง คสช. ที่ฝ่ายความมั่นคงมองเห็นว่าจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาความสงบ อาจเป็นกลไกจำกัดสิทธิเสรีภาพในมุมมองของฝ่ายมนุษยชน

ยิ่งฝ่ายมนุษยชนในที่นี้หมายถึงโลกสากล

เท่ากับว่า มุมมองฝ่ายความมั่นคงของไทย อาจจะแย้งกับมุมมองของโลก

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวหาว่าคนชักใยเบื้องหลังความเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ คือ นายทักษิณ ชินวัตร

แต่หากลองทบทวนดูอีกครั้ง อาจพบว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ใครทั้งนั้น

ปัญหาที่แท้จริงคือเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาของกฎหมายประชามติ

ปัญหาที่แท้จริงคือการปิดกั้นขีดกรอบสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ดังนั้น ยิ่งใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ….

ยิ่งส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

เชื่อว่าปัญหานี้ คสช.รับทราบ เนื่องจากท่าทีอันเข้มแข็งในคราแรกที่คุมตัวนายวัฒนาไปไว้ในค่ายทหาร ได้เปลี่ยนไปสู่การนำตัวขึ้นศาลทหาร

แจ้งข้อหา-ฝากขัง จากนั้นขึ้นกับดุลพินิจของศาลทหารที่จะพิจารณา

ในที่สุดศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกไป

เช่นเดียวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวแล้วปล่อยกลับ

ท่าทีเช่นนี้แสดงว่า คสช. เข้าใจใน “แรงปฏิกิริยา”

การใช้ความเข้มงวดตามแนวทางของฝ่ายความมั่นคงกับกรณีเช่นนี้อาจจะส่งผลร้าย

การยึดแนวทาง “การเมือง” แก้ไขปัญหา น่าจะส่งผลดี

อย่างไรก็ตาม การใช้วิธี “การเมือง” แทนนั้นอาจจะผ่อนคลายปัญหาให้คลี่คลายลงไป แต่ไม่สามารถขจัดปัญหาให้หมด

ทั้งนี้เพราะปัญหามิได้อยู่ที่นายวัฒนา มิได้อยู่ที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับ

แต่ปัญหาอยู่ที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประชามติที่จำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป

เมื่อพบแก่นแท้ของปัญหาแล้ว คงไม่ยากหากคิดจะแก้ไข

แก้ปัญหา “การเมือง” ด้วยวิธีทาง “การเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image