จาก ‘พรรคทหาร’ ของ 3 จอมพลกับ 1 พล.อ. สู่ พลังประชารัฐ ‘โมเดลอมตะ’ การเมืองแบบไทยๆ

วันประชุมเปิดตัวคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ถือว่าทำให้การเมืองชัดเจนขึ้นไปอีกระดับ   

เพราะ ไม่เพียงจะเป็นการเผยให้เห็นถึง “ตัวละคร” ทางการเมืองของฝ่ายที่เอาคสช.เท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงแนวทางในการต่อสู้กับฝ่ายที่ไม่เอาคสช.ไว้อย่างแจ่มชัด 

เพราะ ไม่ได้มีแค่ 4รัฐมนตรียุคคสช.หรือพวกอดีตส.ส.ที่ถูกดูดเท่านั้น แต่พรรคพลังประชารัฐ ยังเต็มไปด้วย คนในแม่น้ำ 5 สาย นายทุนประชารัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นในทุกระดับ  

นี่จึงเป็นคำตอบของการกระทำโดยคสช.ที่ผ่านมาทั้งหมด 

Advertisement

โดยเฉพาะ การจงใจใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคสช.เพื่อกำหนดเกมก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง 

ไม่ว่า การใช้ ม.44 ปลดล็อกความยุ่งยากจากขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตในพ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560  

ไม่ว่า การใช้ ม.44 จัดวางตัวละครเพื่อคุมเกมในพื้นที่ในหลายกรณี ทั้งการคืน 4 เก้าอี้อบจ.ที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต รวมไปถึงการแต่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม แห่งพลังชล กลับไปมีอำนาจรัฐในเขตอิทธิพลของตัวเอง 

Advertisement

รวมไปถึง การจงใจใช้ “นักการเมืองท้องถิ่น” ลงมากวาดคะแนนแพ้ในแต่ละเขต โดยหวังนำคะแนนเหล่านั้นไปรวมคิดเป็นจำนวนส.ส.ที่พึงมีในบัญชีรายชื่ออีกทาง

นี่จึงเป็นที่มาว่า ทำไมการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเกิดช้ากว่าการเลือกตั้งสนามใหญ่แบบหักปากกาเซียนรุ่นเก่าที่เคยชินคิดว่า คสช.จะใช้สนามเล็กวัดเสียงก่อนเปิดสนามใหญ่           

ทั้งหมดถือเป็นแนวทางที่ถูกจัดวางประสานไว้กับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 พอดิบพอดี ทั้งระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวุฒิสภา 250 คน

และยังเป็นไปตามการวิเคราห์ของ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ผิดเพี้ยน   

“เพราะระบอบ คสช.เป็นระบอบที่ใช้อำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบจอมพลสฤษดิ์ เพื่อนำไปสู่การสถาปนาการเมืองแบบ พล.อ.เปรม ในระยะยาว กล่าวคือ หลังการยึดอำนาจ คสช.ใช้อำนาจแบบจอมพลสฤษดิ์ มีมาตรา 44 เหมือนมาตรา 17 ห้ามพรรคการเมืองหรือภาคประชาชนเคลื่อนไหว มีการใช้อำนาจอย่างเข้มข้น จับปราบ ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน โดยมีทหารกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จทั้งบริหาร และนิติบัญญัติ แต่การจะใช้อำนาจอย่างเข้มข้นเช่นนี้ตลอดไปคงไม่ได้ จึงต้องปรับให้หน้าฉากเป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่งด้วยการทำคลอดรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง เปิดให้พรรคการเมืองกลับมาทำกิจกรรมทางการเมือง คืนสิทธิเสรีภาพประชาชนระดับหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขในการคงอำนาจของกลุ่มทหารข้าราชการไว้ ควบคู่กับการสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 เป็นต้นแบบเพื่อนำพาการเมืองกลับไปในยุคเปรมโมเดลนั่นเอง”  

เป็น “เปรมโมเดล” ในความหมายที่ต้องการอยู่ยาว โดยใช้เสียง ส.ว.มาเป็นฐานอำนาจ และยังมีจัดตั้งพรรคการเมืองรองรับไว้สำหรับลงเลือกตั้งนำพาเสียงส.ส.ไว้สำหรับค้ำบัลลังก์ผู้นำทหารในสภาล่างอีกด้วย 

แม้จะปฏิเสธว่า พลังประชารัฐ มิใช่พรรคทหาร        

แต่ขุมกำลังในการจัดตัวผู้สมัครส.ส.ล้วนมีทหาร เครือข่ายราชการเป็นฟันเฟืองสำคัญ

โดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคใต้ที่มีเพื่อนนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 12 เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึง 3 คน และถึงอดีตนายทหารระดับแม่ทัพภาคที่ 4 รวมอยู่ด้วย

1 ใน 3 เพื่อนร่วมรุ่นมีระดับเพื่อนซี้ปึ๊กกินนอนร่วมกันสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยด้วย  

นั่นคือ “เสธแอ๊ด” พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ นายทหารราบที่ตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อมาลงเลือกตั้งส.ว.จังหวัดชุมพร ได้รับเลือกทำหน้าที่จนครบวาระก่อนรัฐประหารปี 57 และได้รับเลือกมาเป็นสนช.ในปัจจุบัน  

เป็นสนช.ที่เคยถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจากกรณีเป็น 1 ใน 36 ส.ว.ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ประเด็นที่มาส.ว.เพื่อโละทิ้งส.ว.สรรหา จนมีครหาออกมาจากสนช.ฝั่งที่เป็นอดีตส.ว.สรรหาว่า เหตุที่ส.ว.เลือกตั้งรอดยกพวงในวันนั้น เพราะมีเพื่อนรักที่พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งให้เป็นสนช.รวมอยู่ด้วย

นี่ยังไม่นับรวมคนใกล้ชิดอื่นๆที่ออกมาร่วมทำทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศ “สนใจงานการเมือง” กันอย่างยกใหญ่  

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่พรรคการเมืองแรกที่ถูกตั้งขึ้นภายหลังจากการรัฐประหาร เพราะนับตั้งแต่ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และสมัย “บิ๊กสุ” พล.อ.สุจินดา คราประยูร ล้วนมีความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจโดยใช้กระบวนการเลือกตั้งผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองทั้งสิ้น

จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา โดยมีพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการ สายกลุ่มราชครู  จดทะเบียนในเดือนกันยายน 2498

จอมพลสฤษดิ์ เป็นเจ้าของพรรคสหภูมิ แต่ให้มีนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นหัวหน้าพรรค และนายสงวน จันทร ซึ่งเป็นน้องชายต่างพ่อของจอมพลสฤษดิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาได้รวมพรรคอื่นเข้ามา โดยตั้งเป็นพรรคใหม่ชื่อพรรคชาติสังคมในเดือนธันวาคม 2500 จอมพลสฤษดิ์ เป็นหัวหน้าเอง และมีพล.ท.ถนอม เป็นรองหัวหน้าพรรค และพล.ท.ประภาส จารุเสถียร ยศสมัยนั้นเป็นเลขาธิการ

จอมพลถนอม ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสหประชาไท โดยมีพล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการ ในเดือนตุลาคม 2511

และสุดท้าย พรรคสามัคคีธรรม ก่อตั้งโดยกลุ่มทหาร แต่ “พ่อเลี้ยงณรงค์” วงศ์วรรณ รับเป็นหัวหน้า มีนาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ รับเป็นเลขาธิการ รับรู้ทั่วไปในสังคมว่า เป็นพรรคทหาร มีบทบาทในการสนับสนุน พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯ หลังยึดอำนาจปี 2534 

แต่ประวัติศาสตร์ของพรรคทหารบอก “ผลลัพธ์” ทางการเมืองไว้ชัด

พรรคเสรีมนังคศิลา ชนะเลือกตั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกฯได้ แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นถูกกังขาว่า เป็น “การเลือกตั้งสกปรก” มีการใช้บัตรปลอม โกงนับคะแนน ดับไฟระหว่างนับคะแนน ทำให้ผลการนับคะแนนล่าช้าไปถึง 2 วัน 2 คืน จนเกิดการประท้วงขนาดใหญ่จากบรรดานิสิตนักศึกษา 

แม้จะขึ้นสู่อำนาจได้ แต่มีรอยร้าวกับผู้นำทหารกลุ่ม “สี่เสาเทเวศร์” ที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ที่สุดฝ่ายจอมพลป. เพลี่ยงพล้ำ เดือนกันยายน 2500 ถูกจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ต้องหนีออกนอกประเทศ ลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงแก่กรรม

จากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พล.ท.ถนอม เป็นรมว.กลาโหม พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นรมว.มหาดไทย เมื่อควบคุมสถานการณ์ได้ในระดับหนึ่งก็เปิดให้มีการเลืองตั้งทั่วไป

แน่นอน พรรคสหภูมิ นอมินีของจอมพลสฤษดิ์ กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 44 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าได้ ได้ 39 เสียง นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย

เมื่อเกรงว่า เสียงจะไม่พอ จอมพลสฤษดิ์จึงตั้งพรรคชาติสังคมขึ้นมา โดยใช้พรรคสหภูมิเป็นแกนรวบรวม ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรคและพรรคเล็กน้อยได้ 80 เสียง ในจำนวนนี้มี 4 เสียงเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลาด้วย เพื่อให้พล.ท.ถนอม เป็นนายกฯ โดยรวมกับเสียง ส.ว.ทำให้มีผู้สนับสนุนถึง 202 เสียง

แต่เพียงไม่กี่เดือนก็ทนกับระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องรัฐประหารรัฐบาลตนเองที่ตั้งมา มีการจับกุมพวกต่อต้าน ถ่วงเวลาร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งล้มป่วย เมื่อเสียชีวิตลงในปี 2506 ถูกกล่าวหาว่า “คอร์รัปชั่น” จอมพลถนอมจึงใช้ม.17 ยึดทรัพย์ เป็นเงิน 604,551,276 บาท 62 สตางค์

นั่นเป็นที่มาทำให้ “ระบอบถนอม” มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

หลังจากขึ้นสู่อำนาจภายใต้ธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร 2502 ต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ถ่วงเวลาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ จนกระทั่งเข้า 9 ปีกว่าผ่านไปก็ฝืนกระแสเรียกร้องไม่ได้ คลอดรัฐธรรมนูญปี 2511 ออกมา นับเป็นสถิติโลกในการร่างรัฐธรรมนูญ 

จอมพลถนอมตั้งพรรคสหประชาไทยลงสนามเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 พรรคสหประชาไทยได้ ส.ส. 76 เสียง จากจำนวนทั้งหมด 219 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 55 เสียง แต่ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรค มีมากถึง 71 คน จอมพลถนอมดึงเสียงส.ส.อิสระ มารวม ได้ 125 คน เมื่อมี ส.ว.หนุน จึงได้รับเลือกเป็นนายกฯ 

แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก แต่มีปัญหาจาก “ภายใน” ขาดความเป็นเอกภาพ กลายเป็นปัญหาใหญ่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดความวุ่นวายภายในพรรคหลายครั้ง สุดท้ายทนไม่ได้ จอมพลถนอมตัดสินใจ “รัฐประหารตัวเอง” อยู่ไม่ถึงปี 2 เกิดกระแสต่อต้านในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน และชนชั้นกลาง 

 ผลจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2516 ได้กลายมาเป็นการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล และเป็นชนวนเหตุนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมต้องหนีออกนอกประเทศ

ทว่า จุดจบของพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาติสังคม และ พรรคสหประชาไทย จะนำมาซึ่งการรัฐประหารทั้งสิ้น แต่คณะรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้พยายามนำพรรคการเมืองมาเป็นวิธีในการสืบทอดอำนาจผ่าน “พรรคสามัคคีธรรม” แต่ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน

แม้ชนะเลือกตั้ง 79 เสียง เป็นเสียงข้างมากได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับอีก 5 พรรค ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร  

แต่เมื่อ พล.อ.สุจินดา ประกาศ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นเป็นนายกฯเกิดกระแสต่อต้านมีประชาชนชุมนุมประท้วงใหญ่ จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ต้องลาออก และรสช.หมดอำนาจในที่สุด

แม้ว่า บทเรียนทางการเมืองของ 3 จอมพล กับ 1 พล.อ.อาจจะทำให้ผู้คนในสังคมหวั่นไหวกับประวัติศาสตร์ในอดีต แต่การเปิดตัวละครผ่านพรรคพลังประชารัฐเท่ากับว่า คสช.ยืนยันในแนวทางเหล่านี้ 

นับจากนี้ จึงเหลือเพียงแค่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะก้าวลงสนามเต็มตัวเมื่อไหร่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image